สภาองค์กรชุมชนตำบลแม่เจดีย์ใหม่

สภาองค์กรชุมชนตำบลแม่เจดีย์ใหม่
ข้อมูลพื้นฐานตำบล

วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รางวัลที่ 3 การจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ (ระดับประเทศ ปี 2552 )

     การประกวดโครงการการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2552
 ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)(สสนก.)  ซึ่งมีสมาชิกชุมชน 18 ชุมชนเข้าร่วมประกวด คณะกรรมการตัดสินให้ "ชุมชนหนองปิ้งไก่ จ.กำแพงเพชร" ได้รางวัลชนะเลิศ ประเภทน้ำแล้ง รางวัลรองชนะเลิศ เป็นของ "ชุมชนปิยะมิตร 3 อ.เบตง จ.ยะลา" ประเภทชุมชนต้นน้ำ และรางวัลที่ 3 เป็นของ "เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ลาว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย" ในประเภทชุมชนต้นน้ำ
     สำหรับชุมชน "ชุมชนหนองปิ้งไก่" ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศ คณะกรรมการให้เหตุผลว่าเป็นชุมชนน้ำแล้งที่สามารถพลิกสภาพขาดแคลนน้ำทำนาและความยากจน โดยชาวบ้านร่วมมือกันพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการระบบชลประทานเกษตร นำ "ระบบแต" ซึ่งเป็นการจัดสรรน้ำอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันมาใช้ จนสามารถกักเก็บน้ำทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง มีผลผลิต 80 ถังต่อไร่
     ส่วน "บ้านปิยะมิตร" อ.เบตง จ.ยะลา เป็นชุมชนต้นน้ำที่ประสบปัญหาการจัดการและการส่งน้ำ และเผชิญกับปัญหาน้ำหลากทุกปี แต่ได้นำแนวพระราชดำริด้านการจัดการน้ำมาใช้จนสามารถอนุรักษ์และดูแลป่าต้นน้ำพื้นที่ 3,000 ไร่ สร้างฝายเก็บน้ำ ระบบน้ำประปา นำน้ำมาใช้เลี้ยงปลาและปลูกผักเสริมรายได้ รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มลาดตระเวนสำรวจป่าต้นน้ำเพื่อเฝ้าระวังและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน 
     รางวัลที่ 3 "เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ลาว" อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ชุมชนต้นน้ำที่เผชิญกับปัญหาป่าไม้ถูกทำลายจากการตัดถนนและทำเหมืองแร่ จึงหันมาใช้แนวพระราชดำริในการตั้งเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ลาว ทำฝายเพื่อทดแทนน้ำและปลูกป่าทดแทน จนมีป่ามีน้ำกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ สามารถใช้เพื่อการเกษตรและการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 
     ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกิตติมศักดิ์ สสนก. ประธานในพิธีมอบรางวัลครั้งนี้ กล่าวว่า สสนก. และมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ร่วมกันจัดทำโครงการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริมาเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยโครงการนี้นับว่าเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มความเข้มแข็งและความมั่นคงในการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ 
     "ประเทศไทยมีชุมชนมากกว่า 60,000 ชุมชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนให้ชุมชนมีการจัดการทรัพยกาน้ำที่มีประสิทธิภาพ และต้องประสานร่วมกันเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยกรน้ำระดับชุมชนต่อไป ซึ่งโครงการของโคคา-โคลาฯ ที่จัดประกวดปัจจุบันมีชุมชน 54 ชุมชน เข้าร่วมเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ และเรามุ่งมั่นที่จะขยายเครือข่ายน้ำให้ครอบคลุมกว้างขวางที่สุด" ดร.สุเมธกล่าว 
     ขณะที่พลตรีพัชร รัตตกุล กรรมการมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนการประกวด กล่าวว่า โคคา-โคลาตระหนักดีว่าน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญของชีวิตและความยั่งยืนของชุมชน โดยโคคา-โคลามีเป้าหมายทั่วโลกในการคืนน้ำสู่ชุมชนและธรรมชาติ ในปริมาณที่เทียบเท่ากับปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่มภายในปี 2563 หรือที่เรียกว่าการคืนน้ำสู่ธรรมชาติ และโปรแกรมการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริดังกล่าว ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมรักน้ำ ตามแนวคิด Live Positively ของโคคา-โคลาบริษัทแม่ ที่ต้องการตอบแทนสังคม
     "มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ยังมีโครงการต่อยอดให้การสนับสนุนชุมชนที่ผ่านการเข้าประกวด เข้าร่วมในโครงการ "ชุมชนแห่งการเรียนรู้และอยู่ดีมีสุข" ซึ่งเป็นโครงการที่มูลนิธิฯ ร่วมกับ สสนก.สนับสนุนการวางแผนและการดำเนินกิจกรรมจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ โดยใช้ระบบการค้นหาพิกัด หรือจีพีเอส อันชาญฉลาด รวมถึงระบบโทรมาตรและเทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมในการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น" ประธานมูลนิธิโคคา-โคลากล่าว.
http://www.thaipost.net/sunday/060610/23111

1 ความคิดเห็น:

  1. สุดยอดมากกกกก..ครับ แค่ที่ 3 แต่ก็ระดับภาคเหนือ ได้รับรางวัลเดียว ชื่นชนคณะทำงานนะครับ

    ตอบลบ