สภาองค์กรชุมชนตำบลแม่เจดีย์ใหม่

สภาองค์กรชุมชนตำบลแม่เจดีย์ใหม่
ข้อมูลพื้นฐานตำบล

วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

หนาวนี้..ที่ดอยลังกา..แม่เจดีย์ใหม่


          ดอยลังกาหลวง เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติขุนแจ ครอบคลุมบริเวณรอยต่อ 3 จังหวัดคือ
เชียงราย - ลำปาง - เชียงใหม่ ติดเขตจังหวัดเชียงใหม่บริเวณพื้นที่ของอำเภอดอยสะเก็ดตามเส้นทางที่มุ่งไปยังจังหวัดเชียงราย  อุทยานแห่งชาติขุนแจมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ในส่วนของดอยลังกาหลวงมียอดดอยอื่นๆ ที่อยู่ในเส้นทางเดินป่าเส้นทางเดียวกันคือ ดอยผาโง้ม( 1,764 เมตร ) ดอยลังกาน้อย( 1,600 เมตร )  และดอยลังกาหลวง( 2,031 เมตร ) เปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับดอยหลวงเชียงดาวที่มียอดดอยหลวงเชียงดาวสูงสุดและยังมียอดดอยอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายยอด ชื่อที่เรียกมาจากยอดดอยที่สูงที่สุด อย่างดอยลังกาหลวงนี้ก็เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขาแห่งนี้ มีความสูงถึง 2,031 เมตร สูงเป็นอันดับ 6 ของยอดเขาสูงเมืองไทย ลักษณะป่าจะเป็นป่าดิบเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์และยังเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำลาว
        จุดเด่นของเส้นทางเดินป่าเส้นนี้คือ การเดินตามแนวสันดอยไปตลอดเส้นทางได้พบได้เห็นป่าสภาพต่างๆ มีทั้งป่าดิบเขา ป่าสน และทุ่งหญ้าบนดอยสูง ป่าที่นี่มีความหลากหลายทำให้นักเดินทางไม่รู้สึกเบื่อหน่าย  ตลอดเส้นทางเดินบนสันดอยจะมองเห็นภาพวิวที่สวยงาม ดอกไม้ก็มีมาก มีทั้งดอกกุหลาบขาวดอยลังกาที่มีลักษณะเฉพาะจะออกดอกสวยงามในฤดูหนาว ดอกหรีดมีเยอะมาก นอกจากนี้ยังมีดอกไม้สวยแปลกตาอีกหลายชนิด     ภาพซ้ายคือเส้นทางเดินสู่ดอยลังกาที่ท้าทาย เดินบนสันเขาเกือบตลอดเส้นทาง ชมวิวสวยได้ตลอดทาง
          
         เส้นทางเดินขึ้นดอยลังกาหลวง
ดอยลังกาหลวง มีเส้นทางเดินป่าที่ไม่ย้อนกลับทางเดิม เริ่มจุดหนึ่งแล้วเดินไปจุดสิ้นสุดอีกจุดหนึ่ง โดยจะเริ่มเดินจากสถานีทวนสัญญาณหรือมักจะเรียกกันว่า สถานีเรดาร์ เดินไปจบเส้นทางที่บ้านแม่ตอนหลวง  หรือจะเริ่มเดินจากทางขึ้นบ้านแม่ตอนหลวง มาสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีเรดาร์ก็ได้
    เส้นทางเดินสถานีเรดาร์แยกจากถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 บริเวณ หลักกิโลเมตรที่ 52-53  ส่วนทางสายบ้านแม่ตอนหลวงจะแยกบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 27
      ระยะทางเดินทั้งสิ้น 17 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 3-4 วัน แล้วแต่จะว่าจะรีบเร่งหรือว่าจะเดินเพื่อชมธรรมชาติไปเรื่อยๆ บนสันดอยมีจุดพักแรมเป็นจุดๆ และมีแหล่งน้ำซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก  ตลอดเส้นทางเดินป่า 17 กิโลเมตรมีสิ่งที่น่าสนใจตลอดเส้นทาง ดูแผนที่ประกอบ
         ก.ม.ที่ 1-ก.ม.ที่ 2
เส้นทางเดินประมาณ 2 กม. เป็นที่ราบสำหรับภูเขาสูงชัน เดินไต่ระดับความสูงตามสันเขาจิกจ้องอาจสร้างความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าให้กับนักเดินทางพอสมควร แต่มีจุดหยุดพักผ่อนเป็นระยะ ต่อเมื่อเดินไต่ระดับไปยังจุดที่สูงขึ้นเรื่อยๆอากาศจะเริ่มเย็นสบาย มองเห็นภูมิประเทศอันเป็นเขาสลับซับซ้อน และผืนป่าอันกว้าง โดยมีบ้านแม่ตอนหลวงซ้อนตัวอยู่อย่างเงียบท่ามกลางหุบเขา ในช่วยเดือนธันวาคม-มกราคม อากาศจะหนาวเย็นโดยเฉพาะบริเวณยอดดอย เป็นฤดูกาลที่ดอกกุหลาบพันปีออกดอก จะเริ่มเบ่งบานตาม 2 ข้างทางตามหุบเขาด้านล่าง ต้นซากุระออกดอกสีชมพูบานสะพรั่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป จากจุดสูงสุดของดอยจิกจ้องเดินต่อไปอีกไม่ไกลนักจะบรรจบกับดอยลังกาน้อย
       ก.ม.ที่ 2-ก.ม.ที่ 3
ดอยลังกาน้อยเป็นยอดเขาหัวโล้นสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,600 เมตร บนยอดดอยปราศจากไม้ใหญ่ เนื่องจากกระแสลมที่พัดค่อนข้างแรงประกอบกับทางธรณีวิทยาของดอยลังกาน้อยเป็นหินแกรนิต รากของต้นไม้ใหญ่ จึงยากที่จะกัดเซาะผ่านหินลงไปได้ลึก เส้นทางดินขึ้นจากด้านล่างสู่ยอดดอยยาวประมาณ 300 เมตร ค่อนข้างสูงและลาดชัน เป็นจุดที่อันตรายที่สุดของทางเดิน นักท่องเที่ยวต้องอาศัยการปีนป่ายไปตามโขดหิน ใช้เวลาเดินทางค่อนข้างนานและเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ในทิศทางตรงกันข้าม หากวันใดที่ฟ้าเปิดไม่มีเมฆฝนก็จะสามารถมองเห็นตัวเมือง เชียงใหม่และดอยสุเทพได้อย่างชัดเจนทางด้านทิศใต้ นักท่องเที่ยวมักจะคางแรมคืนแรกที่ดอยลังกาน้อย เนื่องจากใกล้แหล่งน้ำและยอดดอยอันเป็นจุดชมวิว
       ก.ม.ที่ 3-ก.ม.ที่ 4
จุดตั้งแค้มป์พักแรมบริเวณดอยลังกาน้อยมีอยู่ 3 แห่ง แห่งแรกและแห่งที่ 2 ห่างจากยอดดอยลงไปประมาณ 200 เมตร มีแหล่งน้ำซับที่ไหลออกมาจากใต้หินมีชื่อเรียกว่า ท้องลังกาน้อยแต่ไม่มีน้ำไหลตั้งแต่เดือนธันวาคม-เมษายน แต่จะมีเพียงน้ำขังเท่านั้น
      ก.ม.ที่ 4-ก.ม.ที่ 5
ถัดออกไปอีกประมาณ 200 เมตร เป็นจุดพักแรมแห่งที่ 3 ซึ่งอยู่บริเวณหุบเขาดอยลังกาน้อยมีธารน้ำไหลตลอดปี
      ก.ม.ที่ 5-ก.ม.ที่ 6
บริเวณนี้เป็นจุดที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดมีร่องรอยของสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุมบริเวณใกล้แหล่งน้ำเช่น หมูป่าเก้ง หมี และนกนานาชนิด บริเวณดอยลังกาน้อย นอกจากเป็นจุดชทวิวพระอาทิตย์ขึ้น-ตกและทะแลหมอกแล้ว การส่องนกเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ
      ก.ม.ที่ 6-ก.ม.ที่ 9
จากดอยลังกาน้อยสู่ดอยลังกาหลวงเส้นทางเดินเริ่มสะดวกสบาย เดินลัดเลาะไปตามสันเขามีช่วงเดินขึ้นลงเขาไม่มากนัก ผ่านป่าสนป่าดงดิบชื้น ตลอดจนสองข้างทางมีพันธุ์ไม้นานาชนิด ยิ่งเดินเข้าใกล้ดอยลังกาหลวงมากเท่าใดสภาพป่าเริ่มสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ดอยลังกาหลวงห่างจากดอยลังกาน้อย 6 กม. ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 3-4 ชั่วโมงดอยลังกาหลวงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานฯ นักเดินทางส่วนใหญ่มัดเลือกตั้งแค้มป์พักแรมที่เชิงเขาด้านล่างห่างจากยอดดอยประมาณ 800 เมตร ซึ่งเป็นป่าดงดิบเขาเหมาะสำหรับใช้เป็นที่กำบังลมหนาวที่ค่อนข้างแรงอีกทั้งไม่ไกลจากแหล่งน้ำด้านล่างนัก

     ก.ม.ที่ 9-ก.ม.ที่ 12
จากดอยลังกาหลวงไปสู่ดอยผาโง้มหรือดอยแม่โถประมาณ 3 กม. กม.ที่ 10 จะผ่านสันเขากุหลาบพันปีซึ่งจะเริ่มผลิดอกราวเดือนธันวาคม-มกราคม ขึ้นอยู่กับสภาพความเย็นหากปีใดอากาศหนาวเย็นเร็ว กุหลาบพันปีก็จะผลิดอกเร็วกว่าปกติดอยผาโง้มหรือดอยแม่โถ เป็นยอดเขาหินที่มีลักษณะโง้มตามชื่อสูงจากระดับน้ำทะแลประมาณ 1,764 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากดอยลังกาหลวง ประมาณ 3 กม. ทางด้านทิศตะวันตก พื้นที่ราบด้านบน ยอดดอยผาโง้มมีน้อย จึงไม่เหมาะแก่การพักแรมค้างคืนบนยอดดอย เหมาะสำหรับเป็นจุดชมวิวและชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตก จากที่พักเส้นทางเดินขึ้นและลงค่อนข้างลื่นและลาดชันทางเดินค่อนข้างเล็กคล้ายกิ่วสันดาบ ในฤดูฝนการเดินขึ้นและลงจะยากลำบากมาก ต้องใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
      ก.ม.ที่ 12-ก.ม.ที่ 17
จากดอยผาโง้มถึงดอยสันยาว หรือสถานีทวนสัญญานประมาณ 5 กม. ต้องเดินไต่เขาลงสันเขาเป็นส่วนใหญ่สภาพภูมิประเทศเป็นป่าดิบเขาที่มีความสมบูรณ์ไปจนสิ้นสุดเส้นทางเดินป่าที่สถานีทวนสัญญาณของการสื่อสารแห่งประเทศไทยที่ดอยสันยาวซึ่งเป็นจุดที่รถยนต์สามารถเข้าไปจอดรับได้ถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของการเดินทางลุยป่าดอยลังกาหลวง
                                                                                                   จุดแรก เราก้อมองเห็น สถานีเรดาร์ที่เราเพิ่งจากมา 2 กม.

ดอยลังกาหลวง มีจุดเด่นในเรื่องของเส้นทางเดินที่ท้าทายและยาวไกล แต่เป็นทางไกลที่ไม่น่าเบื่อหน่ายเพราะตลอดเส้นทางมีสภาพป่าที่แตกต่างกัน ตลอดจนภูมิประเทศที่ต่างกันในแต่ละดอยทำให้นักท่องเที่ยวตื่นตาตื่นใจไม่เบื่อหน่าย  นอกจากดอยลังกาจะมีสภาพป่าเป็นป่าดิบเขาแล้ว ดอยลังกายังมีป่าโบราณหรือป่าดึกดำบรรพ์อีกด้วย ท้ายของเส้นทางเดินที่ดอยลังกาน้อยสภาพป่าจะเปลี่ยนไปเป็นป่าสนเขา มีต้นสนคล้ายๆ ภูกระดึงแต่ว่าสนที่นี่จะขึ้นตามแนวหน้าผาดูน่าทึ่งมากกว่าที่อื่นๆ และท้าทายให้เราเดินเข้าไปชม


อาทิตย์ขึ้น และอาทิตย์ตก ที่ดอยลังกาหลวง
  บนเส้นทางเดินป่าสายนี้ท่านสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกได้หลายจุด ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเราเดินอยู่บนสันดอย จุดพักแรมก็หลบเข้าไปบริเวณป่าในหุบเขาเบื้องล่าง เวลาจะชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกเพียงเดินขึ้นมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  จุดชมพระอาทิตย์ที่น่าสนใจคือ บริเวณบน ดอยผาโง้ม  บริเวณสันดอยก่อนถึงยอดดอยลังกาหลวง และบริเวณยอดดอยลังกาน้อย ที่สูงเด่นไม่มีต้นไม้มาบดบังทัศนียภาพ
    ก่อนขึ้นดอยผาโง้ม









ดอยผาโง้ม

  นอกจากวิวสวยแล้ว ดอยลังกายังมีพรรณไม้ดอกสวยงามหลายชนิด ที่โดดเด่นก็คือ กุหลาบขาวดอยลังกา ดอกมีขนาดเล็ก สีสวยงาม จะเริ่มออกดอกตั้งแต่ฤดูหนาวไปจนถึงเดือนมีนาคม นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้อีกหลายชนิดซึ่งจะออกดอกในช่วงฤดูแล้ง ดอกหรีดดอยลังกามีมากบริเวณทุ่งโล่งบนสันดอย และยังมีดอกไม้สวยอีกหลายชนิดซึ่งสามารถพบเห็นได้ตลอดเส้นทางเดิน
ดอกกุหลาบขาวดอยลังกา
ทัศนียภาพดอยลังกาหลวง   ดอยลังกาน้อย
เช้าตรู่บนดอยลังกาหลวง มองเห็นเมืองแม่ขะจาน ลิบๆ
เช้าที่ดอยลังกาหลวง









ดอยลังกาน้อย

ภาพหมู่ บนดอยลังกาหลวง
สิ่งอำนวยความสะดวก
ดอยลังกาหลวงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ  บนดอยมีแต่ภูเขากับต้นไม้  การเที่ยวบนดอยลังกาหลวงเป็นลักษณะเที่ยวแบบเดินป่าตั้งแค้มป์พักแรม  โดยที่นักท่องเที่ยวจะต้องเตรียมเต็นท์เครื่องนอน และอาหารไปให้พร้อม  การแบกสัมภาระขึ้นดอยลังกาหลวงจะมีลูกหาบไว้บริการ  โดยจะต้องแจ้งความต้องการล่วงหน้าเพื่อให้ทางอุทยานจัดหาลูกหาบไว้พร้อมในวันเดินทาง 
       หากสนใจ ติดต่อได้ที่ อุทยานแห่งชาติขุนแจ  ต.แม่เจดีย์ใหม่  อ. เวียงป่าเป้า  จ. เชียงราย
ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเที่ยว สบายๆ 4 วัน 3 คืน  หรือแบบลุยๆ หน่อยก็ 3 วัน 2 คืน


ก่อนจาก ขอมอบมิวสิควีดิโอ ดอยลังกา ให้ดูเล่น นะครับ


วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

คืบหน้าก่อสร้างมัสยิด โป่งน้ำร้อน แม่เจดีย์ใหม่ เวียงป่าเป้า

คืบหน้า / ภาพ การก่อสร้างมัสยิด โป่งน้ำร้อน ต.แม่เจดีย์ใหม่ เวียงป่าเป้า เชียงราย

  การก่อสร้างมัสยิดเจ้าปัญหา ที่เคยเกิดความขัดแย้ง และไม่เข้าใจ ของชุมชนตำบลแม่เจดีย์ใหม่ ซึ่งออกมาต่อต้านการก่อสร้างมัสยิด เมื่อ เดือน เมษายน และเดือน พฤษภาคม พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา จนเหตุการณ์เกือบบานปลายไปเป็นปิดถนน สาย เชียงราย-เชียงใหม่ ประท้วง ซึ่งปัญานี้ ล่าสุด แหล่งข่าวแจ้งว่า มี ผญบ.และ ผช.ผญบ. รวมถึง ตัวแทนชุมชน หลายคน ได้ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เชียงใหม่แล้ว ความคืบหน้าจะได้ ติดตามต่อไป
                                                                คืบหน้าประมาณ 80 %
ทาง ขึ้นลง เทคอนกรีต เรียบร้อย


งานฉาบปูน ระบบ น้ำ/ไฟ ตกแต่ง

มองจากด้าน ทิศเหนือ (มาจาก เชียงราย)

    ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องศาลปกครองต่อหน่วยงาน ของรัฐ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล ที่ปกครองอำเภอ หรือแม้นแต่ สนง.วัฒนธรรมจังหวัด หรือฟ้องกรณี ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ  ก้อตาม ความคืบหน้า สภาองค์กรชุมชนตำบลแม่เจดีย์ใหม่ จะอัพเดท ข่าวคราวในโอกาส ต่อไป

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แม่เจดีย์ใหม่ ของเรา "ประตูสู่เชียงราย"

เชิญชวนท่องเที่ยว ตำบลแม่เจดีย์ใหม่

   ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ เป็น"ประตูสู่จังหวัดเชียงราย" หากนักท่องเที่ยวเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว/รถโดยสารประจำทาง/หรือยานพาหนะทางบก ชนิดใดก็ตาม ต้องเดินทางผ่าน ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่ทิศใต้สุดของจังหวัดเชียงราย
    การเดินทางบนทางหลวง จาก อ.เมือง เชียงใหม่ ผ่าน อ.สันทราย-ดอยสะเก็ด ตลอดเส้นทาง มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามในทุกฤดู และมียานพาหนะค่อนข้างเยอะ การสัญจร ควรระมัดระวังเพราะภายใต้ทิวทัศน์ที่สวยงามก็แฝงไปด้วยอันตรายจากการจราจร ซึ่งผู้ที่ไม่ชำนาญเส้นทางหรือ นักเดินทาง มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
แม่เจดีย์ใหม่ ยินดีต้อนรับ


    สำหรับตำรวจทางหลวงก็ได้รณรงค์ เตือนภัย 87 โค้งอันตรายทั่วประเทศเพื่อเตือนภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วประเทศได้ระมัดระวังกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะ จ.เชียงราย เป็นจังหวัดที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด และยังมีจำนวนโค้งอันตรายมากที่สุดด้วย
                                                     ภาพ ทางลงเขา ดอยนางแก้ว ชัน-ยาว
ก่อนถึง หน้าอุทยานแห่งชาติขุนแจ


เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย (ทางหลวงหมายเลข 118) มีโค้งอันตรายอยู่หลายจุด เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ผู้ที่ไม่เคยชินกับการใช้ถนนเส้นนี้จึงควรระวังเป็นพิเศษ เพราะบ่อยครั้งที่เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต แม้ว่ากรมทางหลวงจะมีป้ายเตือนภัยโค้งอันตรายก็ตาม แต่ยังมีหลายคนที่ประมาทและต้องสังเวยชีวิตกับเส้นทางนี้ จุดโค้งอันตรายในเส้นทางนี้ ตำรวจทางหลวงได้รวบรวมไว้ 3 จุดด้วยกัน คือ
จุดแรก กม.42-43 ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ (# มาจากเชียงใหม่ : บริเวณบ้านปางแฟน สังเกต ร้านข้าวมันไก่ซ้ายมือ ให้ระวังแล้ว เลยวัดพระบาทปางแฟน มานิดเดียว เป็นโค้งขวา ข้ามสะพาน แล้วเป็นโค้งซ้าย # มาจากเชียงราย: ตอนนี้ไม่อันตรายเท่าไหร่ เพราะก่อนถึงโค้งดังกล่าว
ตร.ทางหลวง ไปตั้งป้อมยามเอาไว้ เบรกรถให้ขับเบาลง /หรือ หยุดตรวจ ทำให้ปลอดภัยเกือบ100%)
จุดที่ 2 กม. 51 ต.แม่เจดีย์ใหม่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย (
จุดเริ่มลงเขาจากยอด ดอยนางแก้ว)
จุดที่ 3 กม. 55 ต.แม่เจดีย์ใหม่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย (
จุดโค้งขวาก่อนถึงอุทยานแห่งชาติ ขุนแจ จุดนี้ อันตรายมากที่สุด )
จุด บริเวณโค้ง ใกล้กับหน้าอุทยานแห่งชาติ อันตรายมาก

ภาพอุบัติเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จากการไม่ชำนาญเส้นทาง / หรือคึกคะนอง


 จากจุดที่ 2-3 ต้องระวังเป็นพิเศษ อยู่บริเวณที่เรียกว่า ดอยนางแก้ว เรียกได้ว่าเป็นโค้งปราบเซียน อย่าขับเร็วและอย่าพยายามแซง เพราะเส้นทางเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุดและคดเคี้ยวมาก
  จริงๆแล้วเป็นทางลงจาก ยอดเขา มีจุดอันตรายหลายจุด เพียงแต่ 3 จุดข้างต้น มีโค้งที่ต้องระวัง โดยจุดเหล่านี้จะสังเกตได้จากป้ายไวนิลสีแดงเตือนก่อนถึงโค้งอันตราย 500 เมตร หากรู้สึกเหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียจากการเดินทาง ในทุกช่วงเวลาปกติ หรือเทศกาล ตำรวจมีจุดพักบริการไว้ให้นักท่องเที่ยวด้วย โดยเส้นทางนี้มีจุดพักที่ ด่านตรวจแม่โถ  สังกัดตำรวจ สภ.แม่เจดีย์ 

   ตลาดมูเซอ เศรษฐกิจพอเพียง
  บริเวณ ข้างทางริมถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ ปากทางบ้านเมืองน้อยหมู่ที่ 8 มีร้านขายสินค้าทางการเกษตร ที่มาจากดอย ชาวเขาเผ่ามูเซอ (ลาหู่) จัดวางขายสินค้าเษตร ตามฤดูกาล สินค้าของป่า ประกอบด้วย ถั่วแดง พริก ฟักทอง หน่อไม้ เห็ด ผลไม้ (ที่เหลือจากคัดเข้าโครงกาดหลวง) ประกอบด้วย ท้อ พลับ อะโวคาโด ไม้ดอกพันธุ์หนาว เป็นต้น รวมถึงผักสดๆ จากไร่ เป็นผักจากสวนที่ส่งโครงการหลวง  อยู่ห่างจากน้ำพุร้อนไปทาง จ.เชียงใหม่ ไปประมาณ 1 กม.
ตลาดมูเซอ ริมทางหลวง

อะโวคาโด สดๆลูกโตๆ

บรรยากาศ กาดมูเซอ  ปากทางเข้าบ้านเมืองน้อย หมู่ 8


   ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง
     จากเส้นทางสายเชียงใหม่-เชียงราย กิโลเมตรที่ 64 แยกเข้าสู่หมู่บ้านสบโป่ง ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย  3 กม. ที่อาณาบริเวณแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นหุบเขา มีที่ราบระหว่างภูเขาเพียงเล็กน้อยและมีความลาดชันของพื้นที่สูงตั้งแต่ 45-90% มีลำน้ำห้วยโป่งไหลผ่านพื้นที่ จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ลงสู่แม่น้ำลาว อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่ามูเซอ แม้วและชาวพื้นเมือง ซึ่งในอดีตมีอาชีพปลูกฝิ่น ผืนป่าแห่งแผ่นดินนี้ จึงถูกบุกรุกทำลายลงไปเป็นจำนวนมาก กลายสภาพเป็นไร่ฝิ่น ไร่เลื่อนลอย จนกระทั่งเป็นป่าเสื่อมโทรมในที่สุด

.............ปี 2525 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ทรงโปรดให้จัดตั้งเป็น โครงการวิจัยวิธีการส่งเสริมเกษตรที่สูง ขึ้นดำเนินงานเป็นครั้งแรก ในเขตหมู่บ้านสบโป่ง ภายใต้ชื่อของศูนย์ พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่งบนพื้นที่ 75 ไร่ ซึ่งมีคณะทำงานที่ประกอบด้วย สถาบันวิจัยชาวเขา จังหวัดเชียงใหม่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดเชียงราย
.............ทั้งนี้โดยมุ่งเน้นการวิจัยวิธีการส่งเสริมให้แก่ราษฎร 3 หมู่บ้าน ดังนี้
1.
 หมู่บ้านห้วยโป่ง (โป่งผาลาด หมู่ 13 ต.แม่เจดีย์ใหม่)ใช้วิธีการส่งเสริมแบบให้เจ้าหน้าที่แนะนำส่งเสริมเกษตรกรโดยตรง
2.
 หมู่บ้านห้วยน้ำริน  (กลุ่มบ้านของ หมู่ 8 บ้านเมืองน้อย)หรือศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปีเดียวกัน ใช้วิธีการส่งเสริมแบบให้เกษตรกร เสนอความต้องการขึ้นถึงเจ้าหน้าที่
3.
 หมู่บ้านดอยมด (กลุ่มบ้าน หมู่ 8 เมืองน้อย) เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในความควบคุม ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง เมื่อเกษตรกรต้องการปลูกพืชชนิดใด สามารถเสนอความต้องการ ต่อศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่งได้
.............นอกจากนั้น ได้ทำการวิจัยทดลองพันธุ์พืชต่างๆ ได้แก่ พืชผัก ไม้ดอก ไม้ผล และพืชไร่ เพื่อหาพันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และภูมิอากาศ เพื่อนำผลของการวิจัย ไปสู่งานส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม
.............กุมภาพันธ์ 2527 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จเยี่ยม ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่งแห่งนี้
.............ต่อมาในปี 2530 สิ้นสุดโครงการวิจัย วิธีการส่งเสริมเกษตรที่สูง การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง จึงเปลี่ยนจากงานวิจัย มาเป็นงานส่งเสริมการเกษตรกรรม จนถึงปัจจุบัน โดยเน้นงานส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ..ให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบถาวร เพื่อจะได้มีรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น และการทำไร่เลื่อนลอย
.............โดยดำเนินงานส่งเสริมครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 14,500 ไร่ รวม 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านโป่งผาลาด ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ามูเซอ และแม้ว และมีคนพื้นราบที่อาศัยทำสวนเมี่ยง และหมู่บ้านสบโป่ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวพื้นเมือง รวมราษฎร 150 ครอบครัว
กิจกรรมการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง มีลักษณะการดำเนินงานดังนี้
  • งานส่งเสริมการปลูกพืชผักเมืองหนาวซึ่งเริ่มการส่งเสริมตั้งแต่ปี 2526 ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านโป่งผาลาด และบ้านสบโป่ง( ส่วนของกลุ่มบ้านโป่งป่าตอง หมู่ 14 ต.แม่เจดีย์ใหม่) เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชผักหมุนเวียน ตามฤดูกาลตลอดปี ได้แก่ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหอมใบแดง ผักกาดหวาน ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดหางหงส์ และบัตเตอร์เฮด เป็นต้น
  • งานส่งเสริมการปลูกไม้ดอก ซึ่งเริ่มศึกษาวิจัยเมื่อปี 2527 ได้แก่ คาร์เนชั่น เบญจมาศ จิปโซฟิลล่า พีค๊อก กุหลาบ และแกลดิโอลัส ต่อมาพบว่าสภาพพื้นที่ และภูมิอากาศในเขตของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง มีอุณหภูมิไม่เหมาะสม ต่อการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตของไม้ดอกบางชนิด
.............ประกอบกับมูลนิธิโครงการหลวง มีการควบคุมปริมาณ และคุณภาพของไม้ดอกที่ผลิตจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่างๆ ซึ่งทำให้งานส่งเสริมไม้ดอก ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง เป็นไปแบบจำกัด จึงมีเพียงการ ส่งเสริมการปลูกไม้ดอกบางชนิดเพียงเล็กน้อย เช่น แกลดิโอลัส และพีค๊อก
.............ในปี 2534 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง ได้เริ่มงานส่งเสริมการปลูกเฟริ์น ให้เกษตรกรบ้านห้วยโป่ง จำนวน 4 ราย ได้ผลผลิตประมาณ 2,500 ถึง 3,000 ใบ/เดือน ราคาโดยเฉลี่ย 1 บาท/ใบ งานผลิต ต้นกล้าไม้ดอก ได้แก่ สแตติส ซินนูเอตั้ม จำหน่ายแก่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน และงานขยายหัวพันธุ์แกลดิโอลัส เพื่อแจกจ่าย สู่งานส่งเสริมการปลูกตัดดอก ให้กับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งอื่นๆได้แก่ แม่แฮ หนองหอย แม่สะป๊อก และห้วยน้ำริน
                                                                        สวนเฟริ์นตัดใบ
                                                                 สาวน้อยชนเผ่า ตัดเฟริ์น
ไม้ประดับเมืองหนาว นานาพันธุ์
                                  
.............ปัจจุบันได้ดำเนินการวิจัยทดลองพันธุ์ไม้ดอกอื่นๆ ได้แก่ แกงการูพอว์ และบุปผาสวรรค์ เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตการให้ผลผลิต คุณภาพของผลผลิต ตลอดจนความต้องการของตลาด เพื่อการขยายผลสู่งานส่งเสริมต่อไป
  • งานส่งเสริมพืชไร่
     ได้ดำเนินการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดหาเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรยืมปลูก แล้วส่งเมล็ดพันธุ์คืน เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต เมล็ดพันธุ์บางส่วน เกษตรกรคัดเลือกไว้ปลูกในฤดูต่อไป โดยที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่งให้คำแนะนำ เกี่ยวกับการจัดการเมล็ดพันธุ์เบื้องต้น และพืชไร่ที่ส่งเสริม ได้แก่ ข้าวโพด ซึ่งปลูกเพื่อจำหน่ายและบางส่วนใช้เลี้ยงสัตว์ ข้าวไร่ (พันธุ์เจ้าฮ่อ) ถั่วแดง เป็นพืชไร่ส่งเสริมหลัก ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง ให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และงาขี้ม่อน ที่ส่งเสริม เพื่อจำหน่ายเมล็ดเป็นรายได้ สำหรับดอกงาขี้ม่อนแห้งโครงการดอกไม้แห้งก็ได้รับซื้อ เพื่อใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ดอกไม้แห้ง ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง
  • งานส่งเสริมดอกไม้แห้ง ดำเนินงานส่งเสริมใน 2 ลักษณะ ดังนี้
  • 1. ให้เกษตรกรปลูกเพื่อเก็บผลผลิตดอกไม้แห้ง คือ ดอกกระดาษและดอกงาขี้ม่อน
  • 2. ให้เกษตรกรเก็บจากป่า ด้วยการเลือกดอกของพืชป่า ที่สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ดอกไม้แห้ง เช่น ดอกชมพูทิพย์ ตะล่อมดอย ดอกไผ่ บานไม่รู้โรยกะเหรี่ยง และหญ้าหนวดเจ้าชู้ยักษ์
  • งานส่งเสริมการปลูกไม้ผล
     ได้แก่ บ๊วย (พันธุ์แม่จัน) ท้อ พลับ กาแฟ เสาวรส และฝรั่งคั้นน้ำ โดยจัดหาต้นกล้า ให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่ 2 หมู่บ้าน คือ บ้านโป่งผาลาด และกลุ่มบ้านป่าเมี่ยง รวมพื้นที่ 131.2 ไร่ ซึ่งในปี 2534 ฝรั่งคั้นน้ำให้ผลผลิต 3,000 กิโลกรัม/ไร่ สำหรับไม้ผลชนิดอื่นยังไม่ให้ผลผลิต
                                                                ชาวชนเผ่า คัดแยก พลับ
                                                    ไม้ประดับ ตัดช่อ นานาชนิด
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ของการดำเนินงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากหน่วยงานในด้านต่างๆ ดังนี้
  • กรมพัฒนาที่ดินโดยฝ่ายปฏิบัติงานมูลนิธิโครงการหลวง สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 6 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ด้วยการจัดทำพื้นที่การเกษตรแบบขั้นบันได คูรับน้ำขอบเขา และตัดเส้นทาง เพื่อการคมนาคม และจัดส่งผลผลิตออกสู่ตลาด
  • กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย และระบบชลประทานแบบท่อ เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินการจัดวางระบบไฟฟ้าแรงสูง เข้าสู่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง และวางระบบจ่ายไฟฟ้าแรงต่ำ ภายในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง
  • กรมประชาสงเคราะห์ดำเนินการสำรวจข้อมูลด้านชาวเขา และจัดตั้งโครงการวิจัยยุทธวิธีการส่งเสริมอาชีพเกษตรในระยะเริ่มต้น และประสานงานกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดตั้งกองทุนหมุนเวียนหมู่บ้าน ธนาคารข้าว ตลอดจนติดตามและประเมินผลโครงการ
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสถานฑูตสหรัฐอเมริกา สนับสนุนงบประมาณโดยผ่านมูลนิธิโครงการหลวง เช่น ค่าพันธุ์พืช ค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช อุปกรณ์การเกษตร การฝึกอบรม และเงินเดือนเจ้าหน้าที่เป็นบางส่วน
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้การสนับสนุนด้านการวิจัย และส่งเสริมพันธุ์พืชใหม่ๆ เช่น เฟินตัดใบ และดอกไม้แห้ง
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับ การส่งเสริมเผยแพร่การเกษตรบนที่สูง เช่น ยุทธวิธีการส่งเสริมและไม้ตัดดอก
30 ปีที่ผ่านมา การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง โดยการใช้เวลา และวิธีการแทรกซึมเข้าไปสู่ชาวบ้านทีละน้อย จนถึงปัจจุบันได้เป็นที่ยอมรับ จากชาวบ้านในพื้นที่โครงการแล้ว
การใช้พื้นที่เกษตรกรรม ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง ได้กำหนดให้เฉพาะพื้นที่รับน้ำ ให้ทำการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดปี สำหรับพื้นที่ที่ขาดน้ำ จะส่งเสริมการปลูกถั่วแดงหลวง เดือนกันยายน-ธันวาคม หลังจากช่วงนี้พื้นที่นี้จะไม่สามารถทำประโยชน์ได้
พืชเกษตรกรรมเด่น ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่งได้แก่
  • ผัก รายได้ประมาณ 1,300,000 บาท/ปี/หมู่บ้าน
  • ดอกไม้ รายได้ประมาณ 500,000 บาท/ปี/หมู่บ้าน
  • ถั่วแดงหลวง รายได้ประมาณ 800,000 บาท/ปี/หมู่บ้าน
  • ดอกไม้แห้ง รายได้ประมาณ 800,000บาท/ปี/หมู่บ้าน
แนวทางในการอนุรักษ์ป่าไม้
.............นอกเหนือจากการส่งเสริมอาชีพเกษตร การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมให้แก่ราษฎร 3 หมู่บ้านแล้ว ยังได้ดำเนินกิจกรรม ด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ในพื้นที่ควบคู่ไปด้วย โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่งขออนุญาตให้ราษฎรอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในเขต ที่จะประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติขุนแจ ในปี 2538 ซึ่งตั้งอยู่ติดพื้นที่ด้านหลัง ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง โดยห้ามไม่ให้ราษฎรบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าอีก และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ผลในพื้นที่ดังกล่าว
.............โดยได้ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ราษฎร ถึงคุณประโยชน์ของผืนป่า ที่จะสร้างความชุ่มชื้น และสายฝนให้แก่แผ่นดินแห่งนี้ พร้อมกับรณรงค์ และส่งเสริมให้ชาวบ้าน ปลูกต้นกล้วยใกล้บริเวณแหล่งต้นน้ำ และช่วยกันดูแลรักษาไม่ให้ใครเข้ามาตัดทำลาย
.............ปี 2536 ได้เริ่มต้นปลูกต้นไม้ริมถนนเป็นแนวกันไฟ ประมาณ 500 กว่าต้นในพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ และในปี 2537 ได้วางแผนที่จะให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกป่า เพื่อรักษาต้นน้ำที่จะไหลลง สู่บริเวณที่ตั้งโรงเรียน ซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ด้วยการติดต่อขอกล้าไม้จากกรมป่าไม้ คือ สัก 
ยูคาลิปตัส ฉำฉา และมะค่าโมง จำนวน 3,000 ต้น
.............จากอดีตจวบจนถึงวันนี้ ราษฎรหยุดการบุกรุกทำลายป่า เพราะเขาเหล่านั้นต่างมีที่ทำกินเป็นหลักแหล่งถาวร มีรายได้จากอาชีพเกษตรกรรม ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง ให้การส่งเสริมทดแทนการปลูกฝิ่น ประมาณ 27,000 บาท/ครอบครัว/ปี เยาวชน มีการศึกษาในระดับหนึ่ง มีการพัฒนาในด้านสาธารณสุขพื้นฐาน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ
.............ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง ยังได้เข้าไปมีส่วนร่วม ในการแก้ปัญหาในชุมชนหมู่บ้าน ตลอดจนการชี้แนะให้ราษฎรรู้ และเข้าใจถึงการดำเนินชีวิต อย่างมีระเบียบแบบแผน เพื่อให้เขาได้ตระหนักถึงความเป็นพลเมืองดีของชาติ ยึดมั่นในชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์ เคารพในกฎหมายของประเทศ
.............ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง ยังคงดำเนินกิจกรรมต่อไปอย่างต่อเนื่อง ให้บรรลุสู่เป้าหมายตามวัตถุประสงค์ และให้ราษฎรสามารถประกอบอาชีพ และดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างยั่งยืน และมีความสุขตามสมควร
            ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จากปากทางบ้านสบโป่งเข้าไปเป็นระยะทางประมาณ 3 กม.และปัจจุบันมีหนทางลาดยาง เข้าไปเกือบถึงโครงการหลวงแล้ว เหลือระยะทางเพียงไม่ถึง 1 กม.เท่านั้น เชิญชวนทุกท่านเข้าเยี่ยมชมโครงการได้ตลอดปี
   ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง
ภูมิประเทศ : 
สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 780-1200  เมตร ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปเป็นหุบเขามีที่ราบระหว่างหุบเขา  เพียงเล็กน้อย พื้นที่มีความลาดชันตั้งแต่ 40-90%  สภาพป่าไม้ มีความอุดมสมบูรณ์
ภูมิอากาศ : 
อุณหภูมิต่ำสุด  4.5 องศา  อุณหภูมิสูงสุด 41.5  องศาปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,113 มิลลิเมตร/ ปี
การเดินทาง : 

ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 68  กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 1 ชั่วโมง ครึ่ง เส้นทางหลวงหมายเลข 118 เชียงใหม่-เชียงราย  ถึงกิโลเมตรที่ 61-62 จะเจอป้ายทางเข้าศูนย์ให้เลี้ยวซ้าย 3 กม.
จากจังหวัดเชียงราย มุ่งหน้าสูงทางหลวงหมายเลข118 ผ่าน อ.แม่สรวย-อ.เวียงป่าเป้า ประมาณ 125 กิโลเมตร ผ่านน้ำพุร้อน 1 กม.มีทางแยก ขวา เข้าไปประมาณ 3 กม.
ของฝากของที่ระลึก
ผลผลิตตามฤดูกาล  กล้วยไม้กระถาง ผ้าทอ งานจักสาน และงานหัตถกรรมโคมไฟไม้ไผ่
ที่พัก-ร้านอาหาร
มีบ้านพักรับรอง 1 หลัง รองรับได้ 15 คน มีสถานที่กางเต็นท์ บริการเช่าเต็นท์พร้อมถุงนอน ภายในศูนย์ฯ ไม่มีร้านอาหารบริการ แต่สามารถสั่งรายการอาหารล่วงหน้าได้ กรณีเดินทางมาเป็นหมู่คณะ นอกจากนี้บริเวณบ่อน้ำพุร้อนบ้านสบโป่งยังมีร้านอาหารไว้คอยให้บริการมากมาย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง บ้านโป่งผาลาด ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
57170 โทร 053-609-568



  โป่งน้ำร้อน บ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติ ตำบลแม่เจดีย์ใหม่

บ่อน้ำพุร้อน บ่อดั้งเดิม ฝั่งตะวันออก



บ่อดั้งเดิม ฝั่งตะวันออก


ชื่อ โป่งน้ำร้อน / น้ำพุร้อนธรรมชาติ แม่เจดีย์ใหม่
ลักษณะ
เป็นน้ำพุร้อนใต้ดินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีก๊าซกำมะถันเป็นส่วนประกอบสำคัญ ทำให้น้ำซึ่งผุดขึ้นในบ่อมีอุณหภูมิสูงประมาณ ๙๕ องศาเซลเซียส
แหล่งที่พบ
ริมห้วยระหว่างทางสายเชียงราย-เชียงใหม่  บ้านโป่งน้ำร้อนหมู่ที่6 ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ ภายหลังแยกหมู่บ้านออกไป เป็นอยู่บริเวณบ้านโป่งป่าตอง หมู่ที่ 14  ตำบลแม่เจดีย์ใหม่  มีบ่อน้ำร้อนข้างลำธาร
( ลำน้ำแม่ลาว) น้ำใน บ่อมีไอและกลิ่นกำมะถันลอยขึ้นมาตลอดเวลา
   บริเวณใกล้เคียงสามารถ ขุดดินลงไปปรากฏมีน้ำร้อนอยู่ เช่นกัน แต่ต้องระยะขุดลึกพอสมควร (เกิน 2 เมตร) ปัจจุบัน มีเอกชน ไปดำเนินการขุดบ่อ ฝั่งทิศตะวันตก เปิดเป็นกาดสินค้าของที่ระลึก 2 แห่ง ทำให้บ่อดั้งเดิม ผู้คนไม่นิยมเดินทางไปเยี่ยมชมและท่องเที่ยวมากเท่าไร่
ระยะทางเพียงแค่ ข้ามถนน (สาย เชียงราย-เชียงใหม่) ถนน  8 เลน

บ่อน้ำพุร้อนเอกชน ฝั่งตะวันตก กาดเอื้องฟ้า


บ่อน้ำพุร้อนเอกชน ฝั่งตะวันตก กาดทวีสิน

ความสัมพันธ์กับชุมชน
ในอดีต ชาวบ้านโป่งซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนที่อยู่ห่างขึ้นไปทางต้นน้ำของลำห้วย ใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำร้อนเพื่อต้มหน่อไม้ หรือผักที่เก็บจากป่า ต่อมามีผู้ไปตั้งแผงลอยขายอาหารและปรับบริเวณระหว่างห้วยกับถนนให้เป็นที่จอดพักรถยนต์ จึงทำให้มีผู้เดินทางไปมาแวะชมบ่อน้ำร้อนมากขึ้น ชาวบ้านจึงมีอาชีพเพิ่มขึ้น
ความสำคัญทางเศรษฐกิจ
เป็นแหล่งประกอบอาชีพของชาวบ้านโป่ง และละแวกใกล้เคียง ซึ่งนอกจากขายไข่ต้มและหน่อไม้ต้มแล้ว ยังมีร้านอาหาร เครื่องดื่ม ร้านค้าของที่ระลึก และร้านขายสินค้าพื้นเมืองเรียงรายตลอดเส้นทาง
   
หัตถกรรมจักสาน สองข้างทาง ปางอ่าย-ห้วยชมพู

     สองข้างทางถนนสายเชียงใหม่-เชียงราย  จะพบเห็นร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมเครื่องจักสานอยู่หลายร้าน ซึ่งสินค้าเหล่านี้ผลิตจากฝีมือของชาวบ้านในท้องถิ่น วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นไม้ไผ่ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น
     
สินค้าที่มีจำหน่ายเป็นเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น ตะกร้า กระบุง กระด้ง เสื่อ โตก (หรือ ขันโตก) กระติ๊บข้าว (หรือภาษาเหนือเรียก แอ๊บข้าว) อุปกรณ์จับปลา ตะกร้อสอยผลไม้ กรงนก และไม้กวาดดอกหญ้า ไม้กวาดทางมะพร้าว ซึ่งเป็นสินค้าที่ขายดีมากๆ เนื่องจากมีคุณภาพดีและราคาไม่แพง

 แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องใช้เราอาจจะไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่เครื่องจักสานเหล่านี้มีหลายชิ้นที่สามารถนำมาตกแต่งบ้านได้อย่างลงตัวและสามารถเพิ่มกลิ่นอายของล้านนาให้กับบ้านได้ 

เลือกช็อปปิ้ง สินค้าหัตกรรมจักสานฝีมือของชาวบ้านแล้ว ยังมีสินค้าหัตถกรรมจากชุมชนอื่นๆมาวางจำหน่ายด้วย เช่น ภาชนะไม้  โต๊ะ-เก้าอี้ไม้ ชั้นวางของ ของประดับตกแต่งชิ้นเล็กๆ ซึ่งราคาสามารถต่อรองกันได้



 นอกจากนี้หมู่บ้านจำบอน หมุ่ที่  และหมู่บ้านห้วยชมพู หมู่ที่ 1เป็นแหล่งผลิตไม้กวาดดอกหญ้า
อย่างเป็นล่ำเป็นสัน แบบอุตสาหกรรมในครัวเรือน นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมในทุกขั้นตอนการผลิตได้ถึงที่เลยครับ


วัดพระธาตุแม่เจดีย์ ตำบลแม่เจดีย์ใหม่
พระธาตุแม่เจดีย์ มุมสูง

วัดพระธาตุแม่เจดีย์ ตั้งอยู่ที่บ้านแม่เจดีย์ใหม่  ตำบลแม่เจดีย์  อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มี พระครููไพบูลย์พัฒนาภิรักษ์ เป็นเจ้าอาวาส
    พระธาตุแม่เจดีย์มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ พ.ศ. 1583 โดยพระเจ้าอโนรธามังช่อ ได้แต่งตั้งทูตไป
ศรีลังกาเพื่อขอคัมภีร์หระไตรปิฎกกับพระพุทธรูปทำด้วยแก้วมรกต จากลับเรือถูกพายุพัดหลงทางมาที่ปากแม่น้ำโขง จึงถูกกษัตริย์กัมพูชายึดเรือและสิ่งของไว้ทั้งหมด จากนั้นเป็นเวลาเกือบปี

     พระเจ้าอโนรธามังช่อ  ทราบเรื่องเข้า จึงได้แต่งตั้งฑูตไปกัมพูชาเพื่อขอคืนพระไตรปิฎก ส่วนพระแก้วมรกต หากกษัตริย์กัมพูชาอยากได้ก็จะไม่ขอคืน แต่กษัตริย์กัมพูชาไม่ยอมคืนให้แม้แต่อย่างเดียว พระเจ้าอโนรธามังช่อจึงยกทัพพม่ามาทางเชียงลาว (เชียงรายในปัจจุบัน) เมื่อมาถึงตำบลแม่เจดีย์ (ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ ในปัจจุบัน) ก็ทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาในปี พ.ศ. 1585 โดยองค์พระธาตุได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ 2 ครั้ง ครั้งแรกโดยชาวเงี้ยว แต่ไม่ทราบเวลาที่แน่ชัด
     ครั้งที่ 2 โดยพระครูไพบูลพัฒนาภิรักษ์ ( ถวัลย์ ปรกฺกโม) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแม่เจดีย์องค์ปัจจุบัน ขณะขึ้นมาปฏิบัติธรรม เมื่อได้เห็นสภาพชำรุดทรุดโทรมขององค์พระธาตุเนื่องจากกาลเวลาและขาดการ บำรุงรักษา จึงได้เป็นผู้นำร่วมกับพุทธศานิกชนผู้มีจิตศรัทธา ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุฯ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมศิลปากร จนอยู่ในสภาพที่มั่นนคงและงดงามดังเช่นปัจจุบัน

บรรยากาศ ในวัดพระธาตุแม่เจดีย์

    นอกจากนี้แล้วที่วัดพระธาตุแม่เจดีย์ ยังมี สถูป ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ประดิษฐานให้ประชาชนได้เคารพสักการะอีกด้วย โดยได้ประดิษฐานอยู่อีกยอดดอยหนึ่งซึ่งเป็นบริเวณหนึ่งของวัดอีกด้วย
สถูปครูบาเจ้าศรีวิชัย


     สำหรับพระพุทธรูปทองคำนั้น เพิ่งมีการขุดค้นพบเมื่อเดือนธันวาคม 2550 จากการตัดถนนเพื่อปรับพื้นที่ทำถนนจากสวนสาธารณะบ้านชุ่มเมืองเย็นไปยังถนน อีกเส้นหนึ่ง ทำให้พบตลับสัมฤทธิ์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและวัตถุโบราณจำนวนหนึ่ง และในคืนนั้นเองท่านพระครูได้นิมิตถึง พระภิกษุสงฆ์ชื่อครูบาแสงมา มาบอกว่าจะพาไปเอาพระพุทธรูปทองคำและสมบัติต่างๆในบริเวณพื้นที่ที่ตัดถนน ซึ่งเป็นของนายอ้าย แสนบ่อแก้ว และกำชับให้สร้างพระเจดีย์ทรงพระเจดีย์บนดอยตุงองค์เดิมพร้อมอุโบสถหลัง หนึ่งด้วย เมื่อสะดุ้งตื่นท่านจึงตัดสินใจเดินทางไปยังจุดที่ได้นิมิตขึ้น และขุดพบพระพุทธรูปทองคำ 2 องค์ คือ พระพุทธรูปสิงห์หนึ่ง และพระพุทธรูปสิงห์สาม พร้อมสายสังวาลย์ 



มาจาก เชียงรายมุ่งหน้าเชียงใหม่ ต้องไป ยูเทริ์นรถ


                         

หลังจากแวะกราบพระพุทธรูปทองคำและพระธาตุที่ วัดพระธาตุแม่เจดีย์ แล้ว ขากลับทางด้านซ้ายมือ ห่างจากทางเข้าวัดพระธาตุแม่เจดีย์ประมาณ 500 เมตร จะมีป้ายบอกทางไปวังมัจฉา ขับเข้าไปราว 2 กิโลเมตร (ถนนคอนกรีตตลอดจนถึงเลย ) จะพบกับ อ่างเก็บน้ำห้วยย่าคำมา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วังมัจฉา เป็นเขตพื้นที่ของวัดพระธาตุแม่เจดีย์ ซึ่งทางวัดฯได้ทำการปรับปรุงสถานที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อนุรักษ์ป่าและพันธุ์ปลา มีการเก็บค่าบำรุงสถานที่นิดหน่อย คิดเฉพาะค่ารถ ถ้ารถยนต์ก็แค่คันละ 20 บาทเท่านั้น
                                                       บรรยากาศบริเวณอ่างเก็บน้ำย่าคำมา

    ก่อนเข้าสู่ลานจอดรถที่กว้างขวางจะพบกับสถานที่จำหน่ายอาหารปลาและจำหน่ายของที่ระลึกซึ่งเป็นวัตถุมงคลต่างๆ สำหรับศาลาที่สร้างไว้เพื่อชมปลาในอ่างเก็บน้ำนั้นต้องบอกว่า ยอดเยี่ยมมาก ดูทีแรกอาจจะเข้าใจว่ามีร้านอาหารบริการเหมือนกับอ่างเก็บน้ำหรือแพริมแม่น้ำ เพราะมีโต๊ะ-เก้าอี้เรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ แต่จริงๆแล้วมีไว้บริการนักท่องเที่ยวที่นำอาหารมารับประทาน
   เนื่องจากที่นี่เป็นเขตอภัยทาน จึงมีปลาจำนวนมากและหลากหลายพันธุ์ ตั้งแต่ปลานิลไปจนถึงปลาสวยงามอย่างปลาคาร์ฟ อยู่ร่วมกันในอ่างเก็บน้ำนี้อย่างมีความสุข แต่ละตัวมีขนาดใหญ่มาก และชุกชุมบริเวณใกล้ๆกับศาลา เพื่อรอกินอาหารปลาจากนักท่องเที่ยวนั่นเอง เวลาให้อาหารปลาก็ระวังด้วย โดยเฉพาะของมีค่าหรือเด็กเล็กๆ อาจจะตกลงไปในอ่างเก็บน้ำได้

ซุ้มให้อาหารปลา / ปลานานาพันธุ์ชุกชุมมาก

              
     นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวแล้ว สิ่งหนึ่งที่หลายๆคนอาจจะไม่ทราบก็คือ อ่างเก็บน้ำห้วยย่าคำมายังเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการอนุรักษ์ป่า 
      โดยในปี พ.ศ. 2543 กรมป่าไม้ร่วมกับวัดพระธาตุแม่เจดีย์ได้จัดตั้งศูนย์สาธิตพุทธศาสนากับป่าไม้ขึ้น เป็นศูนย์แห่งที่ 9 ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบในจังหวัดเชียงรายและพะเยา
ฟังชื่อแล้วอาจจะเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าพุทธศาสนากับป่าไม้นั้นจะเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร? ประเด็นหลักที่มีการศูนย์ฯแห่งนี้ขึ้นมาก็เนื่องจาก ต้องการป้องกันปัญหาพระสงฆ์บุกรุกพื้นที่ป่าอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่ ก่อสร้างอาคารถาวรของวัด และมีการตัดต้นไม้หวงห้าม นอกจากนี้ยังพบว่ามีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในป่า เช่น การระเบิดถ้ำ และตัดต้นไม้มาก่อสร้างอาคาร เป็นต้น (ข่าวพระไทย)
       การจัดตั้ง ศูนย์สาธิตพุทธศาสนากับป่าไม้ จึงเป็นเป็นการอาศัยความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้ พระ และประชาชน โดยให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ควบคู่กับการฝึกอบรมศีลธรรม โดยส่งเสริมให้พระช่วยงานด้านป่าไม้ร่วมกับศูนย์ฯ มีส่วนร่วมในการพิทักษ์ผืนป่า คอยดูแลและเป็นหูเป็นตาในการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่า ให้พระพุทธศาสนากับป่าอยู่ร่วมกันได้ โดยพระสงฆ์จะทำหน้าที่ดูแลอนุรักษ์พื้นที่ป่าในส่วนที่เป็นสำนักสงฆ์และบริเวณโดยรอบ