สภาองค์กรชุมชนตำบลแม่เจดีย์ใหม่

สภาองค์กรชุมชนตำบลแม่เจดีย์ใหม่
ข้อมูลพื้นฐานตำบล

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

งานปีใหม่มูเซอ : จังหวะก้าวของเผ่าพันธุ์บนลาน “ จะคึ ”


งานปีใหม่มูเซอ : จังหวะก้าวของเผ่าพันธุ์บนลาน “ จะคึ ”
        “ถึงช่วงปีใหม่ มูเซอทุกคนต้องกลับบ้าน ใครไม่กลับบ้านถือว่าไม่ใช่คน ไม่ใช่พี่น้อง 
      ชายชาวมูเซอ วัยกลางคนตอบคำถามของผมที่ว่า งานปีใหม่สำคัญต่อชาวมูเซอเพียงใด
 
ตอนสายวันนั้น  ผมอยู่ที่ชุมชนมูเซอห้วยน้ำริน หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ลึกเร้นบนดอยสูงในเขตตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า  ในช่วงที่พิธีปีใหม่มูเซอกำลังเริ่มต้นขึ้นท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บของปลายปี
 
    ขณะนั้นชาวมูเซอยืนกันอยู่คลาคล่ำบริเวณลานกว้าง ชายหญิงล้วนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ในชุดประจำเผ่า สีสันละลานตา พวกเขากำลังรอการเต้น จะคึในลานดินรูปวงกลมกว้าง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญและสนุกครึกครื้นที่สุดอย่างหนึ่งในพิธีปีใหม่มูเซอ
 
      ตลอดเวลาที่มาเยี่ยมในชุมชนมูเซอห้วยน้ำริน ผมมีโอกาสอยู่ร่วมชมการเต้นจะคึ ฉลองปีใหม่หลายครั้งหลายหน ทั้งกลางวันและกลางคืน ได้สัมผัสรับรู้เรื่องราวน่าสนใจหลายอย่างจากลาน จะคึ นี่เอง

   ในสายตาคนนอกเช่นผม จังหวะท่าเท้าย่างก้าวของชายหญิงมูเซอที่เต้นเรียงแถว วนเป็นวงกลมรอบลานจะคึ ไม่ว่าก้าวไปทางซ้าย วนไปทางขวา ก้าวไปข้างหน้าหรือหลัง ตามจังหวะเสียงแคน ดูช่างสอดคล้องพร้อมเพรียงกันอย่างน่าฉงน 
ผมเคยลองไปเต้นกับพวกเขา ไม่รู้เป็นไง เราก้าวเท้าไม่ทัน ผิดจังหวะไปทุกที
    หนุ่มไทยจากพื้นราบผู้คุ้นเคยกับชุมชนมูเซอแห่งนี้ เอ่ยกับผมขณะยืนดูการเต้นจะคึอยู่ด้วยกัน 
   ภาพเหตุการณ์น่ารักที่มักปรากฏให้เห็นก็คือ เด็กเล็กชายหญิงที่กรู กันลงไปในลานจะคึ เต้นเลียนแบบผู้ใหญ่ด้วยท่าทางดูเก้ๆ กังๆ เพราะเพิ่งเริ่มเรียนรู้
     “นะทอ” หญิงชาวมูเซอวัยกลางคน บอกกับผมว่า 
ป้าหัดเต้น จะคึตั้งแต่เด็ก ประเพณีของเราต้องได้จะคึ ถ้าใครได้เต้นจะคึทุกปีถือว่าได้บุญ ชีวิตจะดี
 
   นะทอ ยังเล่าว่า วันพรุ่งนี้ลูกชายของป้าที่ออกไปเรียนหนังสือในตัวเมือง จะกลับมางานปีใหม่ที่หมู่บ้าน
 
ผมสงสัยว่า หนุ่มสาวมูเซอรุ่นใหม่ที่มีโอกาสออกไปสัมผัสโลกภายนอกเป็นเวลานาน เมื่อกลับมาสู่บ้านเกิด พวกเขายังเต้น จะคึ ได้สอดคล้องกลมกลืนกับญาติมิตรในหมู่บ้านอีกไหม ?
 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
๑.
๒๘ มกราคม ๒๕๔๙ เป็นวันที่ผมเดินทางเข้าสู่ชุมชนมูเซอห้วยน้ำริน
 
   ก่อนหน้านั้นราวเดือนกว่า คนในหมูบ้านแจ้งข่าวให้เรารู้ว่า ชุมชนมูเซอห้วยน้ำรินจะจัดพิธีฉลองปีใหม่ขึ้นราว ช่วงนี้แหละ ประมาณวันตรุษจีนหรือใกล้ๆ นั้น
   “ชุมชนมูเซอหย่อมบ้านนี้ยังรักษาประเพณีวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้มาก งานปีใหม่ของพวกเขาจึงคงความดั้งเดิมสูงมากเช่นกันผู้ที่แจ้งข่าวบอกไปให้เรา แจ้งเรามาอย่างนี้
 
   หมู่บ้านมูเซอห้วยน้ำริน เริ่มเป็นที่รับรู้ของโลกภายนอก รวมทั้งสื่อมวลชน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโครงการหลวง “ห้วยน้ำริน” อันมีชื่อเสียง และ ในฐานะชุมชนที่มีผลงานดีเด่นด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ
 และการสืบทอดประเพณี
   ภาพจินตนาการถึงหมู่บ้านชนเผ่าบนดอยสูงที่ยังคงความบริสุทธิ์ แวดล้อมด้วยสภาพธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ยิ่งเร้าความสนใจให้เราอยากไปเห็นชุมชนแห่งนั้นในเร็ววัน
 
ผมจึงเตรียมพร้อมเพื่อที่จะบันทึกการเดินทางหนนั้นมาบอกเล่ากับพี่น้องที่ยังไม่เคยสัมผัส งานวัฒนธรรมชนเผ่าแบบนี้

         เส้นทางระยะทางราว ๙ กิโลเมตร เป็นถนนคอนกรีต(ไทยเข้มแข็ง)แยกออกจากทางหลวงสายเชียงใหม่ –เชียงราย ( No.118) ที่บ้านโป่ง-ป่าตอง ข้ามสะพานคอนกรีต(แม่น้ำลาว)เสร็จแล้ว ทางก็เริ่มสูงชันขึ้นเนิน แล้วทอดโค้งวกเวียนตามไหล่เขา ถึงกระนั้นอาจกล่าวว่าเป็นทางที่สะดวกสบาย   ถนนเทคอนกรีตตลอดเส้นทาง เมื่อถึงหมู่บ้านมูเซอห้วยม่วง( หมู่ที่ ๑๐) เป็นชุมชนมูเซอขนาดใหญ่แห่งนี้ไปแล้วยิ่งสูงชันและอันตรายอย่างน่ากลัวสำหรับคนเมือง อย่างยิ่ง ร่องลึกทอดแนวยาว ขนาบด้วยแนวป่าสองข้างทาง 
เส้นทางค่อนข้างสูงชัน ฝุ่นคลุ้งขึ้นมาจากผิวดินไหล่ทาง บางช่วงที่ถูกล้อรถยนต์บดบี้ แล้วขบวนรถก็วิ่งเลียบขอบเหวลึก มองออกไปเห็นเวิ้งหุบเขาโอบล้อมด้วยเทือกเขาซ้อนแนวสลับสลอนกว้างไกล เราผ่านป่า ผ่านไร่ชาวเขา บางแห่งกำลังเผาไร่ ไฟไหม้เศษวัชพืชลุกโหมขึ้นอย่างน่ากลัวเลยทีเดียว  
เส้นทางทิ้งดิ่งโค้งหักศอกตวัดไปมาน่าหวาดเสียว ก่อนสูงชันขึ้นไปอีก กลายเป็นทางวิ่งบนไหล่เขาเส้นเล็กๆ เพราะอีกฝั่งถนนเป็นหุบเหว ทางยังทอดคดโค้งสูงต่ำเป็นระยะ ซอกซอนผ่านป่าทึบที่เบียดเสียดหนาแน่นด้วยไม้ใหญ่และไม้พุ่ม ยังคงมีฝุ่นคลุ้งบ้างเกือบตลอดเส้นทาง 


    ยังดีที่พวกเราเดินทางขณะถนนแห้งสนิท หากเป็นช่วงฤดูฝน นึกไม่ออกเลยว่ารถจะวิ่งผ่านถนนสายที่ทั้งสูงชันและลื่นเละเป็นสายนี้ไปได้อย่างไร
 ได้ง่ายๆ

    เส้นทางคมนาคมน่าหวาดเสียวนี้ เช่นนี้เอง ไม่ได้เป็นสาเหตุสกัดไม่ให้ความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอก ถาโถมสู่หมู่บ้านหลังเขา ได้เลย สังเกตจากปริมาณ คน มอเตอร์ไซด์และรถยนต์ที่วิ่งกัน สวนไปมา


๒.
  พวกเรามาถึงหมู่บ้านเมืองน้อย ราวห้าโมงเย็น
 
  หมู่บ้านแห่งนี้ประกอบด้วยสามหย่อมบ้านตั้งอยู่แยกจากกัน ได้แก่ ชุมชนพื้นเมือง  ชุมชนมูเซอดอยมด ชุมชนมูเซอห้วยน้ำริน เฉพาะชุมชนมูเซอทั้งสองหย่อมบ้านต่างจัดงานปีใหม่ของตนเองในช่วงเวลาเดียวกันนี้
   ชุมชนที่พวกเราเข้าเยี่ยมเพื่อเตรียมเข้าร่วมสังเกตการณ์งานปีใหม่ของพวกเขา คือหย่อม บ้านมูเซอห้วยน้ำริน

   ยามเย็นช่วงปลายปี ในหมู่บ้านบนดอยสูง ๑,๐๕๗ เมตรจากระดับน้ำทะเล อากาศเย็นลงอย่างรวดเร็วจนคนเมืองพื้นราบอย่างเราทำท่าจะไม่ไหว ยิ่งช่วงหัวค่ำที่พวกเราล้อมวงกินข้าวบนนอกชานบ้าน บางคน บางท่านก้อ ต้องน้ำพรรค์อย่างว่าแหละ  แม้จะสวมเสื้อกันหนาวยังรู้สึกหนาวเหน็บแทบสั่นสะท้าน
 
   บ้านปลูกสร้างอย่างเรียบง่ายไม่ผิดจากบ้านชาวบ้าน เสาและคานไม้ ผนังตีปิดด้วยไม้กระดาน ส่วนพื้นฟากไม้ไผ่ให้ความรู้สึกยวบยาบเวลาเดิน
 

  แรงบันดาลใจใดชักนำให้คนพื้นราบ พากันขึ้นมาสร้างครอบครัวอบอุ่นและปักหลักใช้ชีวิตกับเด็กๆ บนดอยสูง เป็นเรื่องน่าสนใจใคร่รู้สำหรับผมซึ่งตั้งใจจะไต่ถามในภายหลัง แต่ขณะนี้พวกเรากำลังจะพูดคุยสอบถามความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี โดยเฉพาะพิธีกรรมใน “งานปีใหม่มูเซอ” ครั้งนี้เสียก่อน
 
   
 วงสนทนาย้ายหนีหนาวเข้าไปในห้องครัวไฟกลางบ้าน ห้องหับค่อนข้างมิดชิด พื้นกลางห้องตั้งกระบะไม้สี่เหลี่ยมใส่ดินอัดแน่นสำหรับวางท่อนฟืนก่อไฟต้มน้ำทำอาหาร ความอบอุ่นจึงแผ่ซ่านเอื้อเฟื้อแก่คนที่นั่งอยู่โดยรอบ นอกจากพวกเราแล้ว ยังมีหญิงชาวมูเซออีก 5-6 คนมาร่วมพูดคุย ตอบคำถามอาคันตุกะด้วยสำเนียงคำเมือง อันแปลกต่างของพวกเธอ 
   
  จากถ้อยคำสนทนาพอสรุปใจความได้ว่า... 
    ชาวมูเซอห้วยน้ำรินตั้งชุมชนของพวกเขาในบริเวณนี้กว่า ๖๐ ปีแล้ว พวกเขาเป็นชาวมูเซอดำ-สาขาหนึ่งของชาวมูเซอหรือเรียกอีกอย่างว่า “ชาวลาหู่” ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มในประเทศไทย
 
ชาวบ้านที่นี่ยังชีพด้วยการทำงานหนักในนาข้าวและไร่ข้าวโพด เมล็ดข้าวโพดนั้นใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ทั้งหมู ไก่ วัว ควาย
 
เพราะตั้งบ้านเรือนกันมายาวนาน วันนี้ชาวมูเซอทุกคนในชุมชนจึงมีบัตรประชาชนกันถ้วนหน้าแล้ว แม้ในบัตรประชาชนระบุว่าพวกเขานับถือศาสนาพุทธ แต่ชาวบ้านอาจบอกคนอื่นว่าเขานับถือ พุทธผีเพราะแท้จริงแล้ว ความเชื่อหรือการนับถือผีที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังคงอยู่อย่างเข้มข้นในชุมชนมูเซอบ้านหลังเมือง แนบแน่นกลมกลืนอยู่ในประเพณี วัฒนธรรม พิธีกรรม วิถีชีวิต และการงานประจำวันของพวกเขา
   และผู้ที่เปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางของการประกอบพิธีกรรมภายในชุมชน คือผู้เฒ่าที่เรียกว่า “ปู่จ๋าน” หรือในภาษามูเซอว่า
เกล่-โละ 
“ปู่จ๋าน” มีบทบาทเป็นทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวมูเซอ คือเป็นหมอผี ดูฤกษ์ยามและประกอบพิธีเซ่นไหว้หรือติดต่อดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เป็นทั้งหมอยา รู้วิธีใช้ยาสมุนไพรหรือเวทมนตร์รักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทั้งมีบทบาทเป็นผู้นำชุมชน คอยไกล่เกลี่ยตัดสินคดีความและข้อพิพาทของคนในหมู่บ้าน 
 ปู่จ๋าน จึงเป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งสำหรับชนเผ่ามูเซอ และตำแหน่งนี้สืบทอดทางสายเลือดสู่ลูกชาย ในแต่ละหย่อมบ้านมีปู่จ๋านได้เพียงผู้เดียวเท่านั้น 

ระหว่างพวกเราสนทนากันอยู่นั้น " พ่อเฒ่าจะจ๋อย หน่ามือ "

ปู่จ๋าน องชุมชนมูเซอห้วยน้ำรินก็ตามมาสมทบ พ่อเฒ่าวัย ๖๕ ปีเศษผู้นี้ รูปร่างผอมเกรง ใบหน้าตอบลึก ดวงตาค่อนข้างเล็ก หน้าผากนูนสูง ฟันและปากแดงคล้ำจากการเคี้ยวหมาก 
  “ผีของชาวมูเซอมีกี่ประเภทครับคนในวงถามขึ้น
 
พ่อเฒ่าจะจ๋อยอธิบายว่า มีทั้งผีเรือน ผีบรรพบุรุษ ผีเจ้าที่ ผีลานจะคึ ผีไร่ ผีป่า ผีน้ำ ผีต้นน้ำ ผีขวัญสัตว์ต่างๆ ที่ชาวมูเซอเลี้ยง เช่น ผีขวัญหมู ผีขวัญวัวขวัญควาย และผีเร่ร่อน
 
      ครูบนดอย เสริมว่า อย่างไร่ข้าวโพดของชาวบ้านจะมีผีไร่อยู่ที่นั่น ชาวบ้านจะทำพิธีเลี้ยงผี เซ่นด้วยเนื้อหมูหรือไก่ บอกผีไร่ให้ดูแลข้าวโพด ไม่ให้สัตว์ป่าเข้ามากิน แล้วพื้นที่แต่ละแห่งจะมีผีเจ้าที่ประจำอยู่ เช่น ที่ห้วยผักไผ่จะมีผีเจ้าที่เฉพาะ ชาวบ้านจะไปเลี้ยงผี ๒ ปีครั้งหนึ่ง หรือสมมุติใครเอาวัวไปปล่อยหากินที่ไหน เจ้าของต้องทำพิธีเลี้ยงผีเจ้าที่บริเวณนั้น ขอให้ช่วยดูแลสัตว์เลี้ยงของเขา
 
    ครูบอก เรียกว่ามีผีทุกที่ ประจำทุกไหล่ดอย ต้นน้ำ ลำห้วยต่างๆ
 
ปู่จ๋านเคยเห็นผีหรือเปล่าครับ
 
บ่เคยเห็นเลยก๊าปู่จ๋านตอบด้วยภาษาคนเมือง
 
ปู่จ๋านรู้ว่าผีมีจริงได้ยังไง
 
คำตอบสั้นๆ คือ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เชื่อต่อกันมา
 
อาคันตุกะยังสงสัยไม่เลิก แล้วทุกวันนี้ เด็กๆ ในหมู่บ้านยังเชื่อเรื่องผีหรือเปล่า ?”
 
     อ้ายครูเอกพลเป็นคนยกตัวอย่างให้พวกเราฟัง อย่างในถ้ำปลาใกล้กับหมู่บ้าน เขาถือว่ามีผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ในนั้น เด็กๆ จะไม่เข้าไปรบกวนปลาในถ้ำ ไม่มีใครไปจับกิน
 ( โพรงไม่ใหญ่นัก มีปลาชุม)   พี่นะเมาะ หญิงชาวมูเซอวัยกลางคนพูดขึ้น กลัวผีมาจับหักคอ   “ชาวบ้านที่นี่กลัวผีกันมาก 
    อ้ายครูเอกพลกล่าวและยังอธิบายว่า ในบรรดาผีต่างๆ ที่ชาวมูเซอนับถือกลัวเกรงนั้น ผีลานจะคึ เป็นผีที่มีศักดิ์สูงมาก ทุกหมู่บ้านหรือทุกหย่อมบ้านชาวมูเซอไม่อาจขาดลานจะคึ ชาวมูเซอเต้นจะคึตลอดทั้งปี เพื่อประกอบพิธีกรรมหรือฉลองเทศกาลสำคัญต่างๆ รวมทั้งในงานปีใหม่ด้วย
 
    ถึงตอนนี้หัวข้อสนทนาก็เข้าสู่เรื่องที่ทุกคนสนใจ ปู่จ๋านและพี่นะเมาะ รวมทั้งอ้ายสุชาติและอ้ายครูเอกพล ช่วยกันเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานปีใหม่มูเซอให้พวกเราฟัง
 
     งานปีใหม่มูเซอแต่ละหมู่บ้านจัดขึ้นไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับปู่จ๋าน ของชุมชนนั้นๆ เป็นผู้กำหนด โดยเริ่มจากดูฤกษ์ยามที่เหมาะสม  ส่วนมากอยู่ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์  และเพราะจัดงานไม่ตรงกันนั่นเอง ชาวมูเซอต่างบ้านจึงมีโอกาสไปเที่ยวหมู่บ้านที่กำลังจัดงานปีใหม่ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปได้ตลอด
 
     ชาวมูเซอทำงานหนักในไร่นาตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลา ๑ เดือนนับจากพิธีฉลองปีใหม่เริ่มต้น ประเพณีมูเซอมีข้อห้ามไม่ให้ทำการงานใดๆ มีแต่การประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เลี้ยงผี เต้นจะคึ เยี่ยมคารวะญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ และกินเลี้ยงรื่นเริง
 
     ชาวมูเซอหลายคนจึงอาจใจจดใจจ่อรอคอยให้ปีใหม่มาถึง เพราะเป็นช่วงเวลาพิเศษที่พวกเขาได้พักผ่อน ปรับสมดุลกายและใจให้พร้อมก่อนเผชิญชีวิตในรอบปีต่อไป
 


    งานปีใหม่ที่จัดขึ้นก่อนและกินเวลา ๑ เดือนนี้เรียกว่า งานปีใหม่ผู้หญิง หลังจากนั้นชาวมูเซอยังจัดงานปีใหม่ผู้ชายอีกรอบ แต่เป็นงานเล็กและมีความสำคัญน้อยกว่า
 
แล้วข้อห้ามปีใหม่มีก่อ พ่อเฒ่าจะจ๋อยอ้ายครูเอกพลหันไปถามปู่จ๋าน
 
พวกของป่า กล้วย ไม้ไผ่ เอาเข้าหมู่บ้านบ่ได้ สมัยปู่ย่าตายายเขาถือมา เฮาก็ต้องถือต่อ
 
เคยมีคนเอาเข้ามาบ้าน ต้องเสียหมูตัวหนึ่งพี่นะเมาะบอก หมายถึงคนทำผิดประเพณีต้องฆ่าหมูของตนเพื่อเลี้ยงผี
 
 อ้ายครูเอกพล ถ้าปีใหม่ เฮาไปล่าสัตว์ได้ก่อ
 
บ่ได้ แต่ผักที่เฮาหามากิน เอามาได้อยู่ ถ้าเอามาบ่ได้นี่เฮาอดตายแล้ว
 
 พี่นะเมาะตอบ แล้วเล่าเพิ่มเติมว่า
 
ในช่วง ๑ เดือนนับจากปีใหม่ ใครจะด่ากัน ทะเลาะกันบ่ได้ ผัวเมียทะเลาะกันต้องเสียหมู ๑ ตัว เป็นช่วงที่ชาวบ้านจำศีล มีอะไรก็จะคุยกันดีๆ รื่นเริง ใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ มี (เครื่องประดับ) อะไรงัดมาประชันกัน แล้วพอถึงวันที่ ๒๐ (๒๐ มกราคม) นี่สตางค์บ่ใช้แล้ว
 
 อ้ายครูเอกพลเสริมว่า วันที่ ๒๐ ถือว่าเป็นวันปากปีของงานปีใหม่ มูเซอจะไม่จ่ายเงิน เพราะถ้าใช้เงินแสดงว่าเขาจะมีเรื่องต้องเสียเงินตลอดปี
 
ไม่ซื้อของเลยปู่จ๋านบอก
 
ซื้อของได้ ถ้าแปะได้พี่นะเมาะพูดแล้วหัวเราะ
 
   ถึงตอนนี้ผมยังไม่ได้บอกว่า ห้องด้านหน้าบนบ้านอ้ายสุชาติและอ้ายครูเอกพลเปิดเป็นร้านขายของชำขนาดย่อมด้วยเช่นกัน
 
อ้ายครูเอกพลยังให้ข้อมูลต่อ บ้านไหนมีบ่าวมีสาวเยอะ จะขายออกก็ช่วงนี้ เพราะคนต่างหมู่บ้านมาเยอะ หนุ่มสาวจะมาเจอกันชอบกันช่วงปีใหม่ พ่อแม่ไม่มีสิทธิ์จะห้าม เพราะด่าไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ต้องยอม แล้วประเพณีมูเซอ ผู้ชายแต่งงานแล้วต้องออกเรือนไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง
 
พี่นะเมาะกล่าวบ้าง ช่วงปีใหม่ มูเซอจะไม่ไปค้างที่อื่น อยู่ที่ไหนก็ต้อง ปิ๊กบ้าน (กลับบ้าน) สมมุติผัวเมีย เมียอยู่หมู่บ้านมูเซอ ผัวไปอยู่เชียงใหม่ คู่นี้ได้เลิกกัน
 
   อ้ายครูเอกพลอธิบาย คือสามีภรรยาถ้าแยกกันอยู่ช่วงปีใหม่ ต้องเลิกกัน จะต้องทำพิธีต้มน้ำชาเพื่อเลิกกันก่อน แล้วถ้าอีก ๓-๔ วันกลับมาเจอกัน ค่อยทำพิธีแต่งงานกันใหม่ แต่ต้องเสียหมูอีก
 
  พวกเรายังคุยกันต่อ ผมได้ทราบในคืนวันนั้นว่า ปีนี้งานปีใหม่มูเซอชุมชนห้วยน้ำรินจัดขึ้นค่อนข้างเร็วกว่าปีก่อนๆ โดยวันที่ ๒๖ มกราคม ที่ผ่านมา พวกเขาฆ่าหมูเลี้ยงผีหมู่บ้านไปรอบหนึ่งแล้ว เพื่อบอกกล่าวให้ทราบถึงวาระเริ่มต้นของงานปีใหม่
 
วันนี้พักผ่อนหนึ่งวัน ส่วนวันพรุ่งนี้ (๒๙ ม.ค.) ชาวบ้านจะตำข้าวปุ๊กกันแต่เช้ามืด ที่บ้านปู่จ๋านมีการฆ่าหมูเพื่อเซ่นไหว้ผีเรือน
 
วงสนทนาเลิกราตั้งแต่ยังไม่ดึกมาก พวกเรารีบนอนเพราะพรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปดูพิธีกรรมของชาวบ้าน
 

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
๓.
    คืนนั้นผมนอนหลับไม่สนิท ยิ่งดึกยิ่งหนาวจัด อากาศเย็นเยียบแทรกผ่านระแนงไม้ผนังอาคารเรียนชั่วคราวเข้ามา ชำแรกผ่านถุงนอนและเสื้อหนาวตัวหนาก็เอาไม่อยู่ จนรู้สึกเหมือนความหนาวบาดผิวกายเข้าไปถึงกระดูก
 
   ราวตีห้า พวกเราต้องฝืนลุกจากที่นอนตามเสียงอ้ายสุชาติปลุกเรียก ออกไปเผชิญอากาศเย็นยะเยือกนอกตัวอาคาร เดินฝ่าความมืดตามแสงไฟฉายไปยังบ้านปู่จ๋าน
 
     บ้านไม้ใต้ถุนสูงหลังใหญ่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า กิจกรรมกำลังดำเนินอยู่บนนอกชานกว้าง ผู้หญิงช่วยกันหุงข้าวเหนียวในหม้อตั้งบนเตาถ่าน สุกแล้วนำไปเทใส่ครกที่ขุดจากท่อนไม้ขนาดใหญ่จนเป็นหลุม ตั้งอยู่มุมหนึ่งริมระเบียง หนุ่มมูเซอ ๒ คนช่วยกันใช้ไผ่ลำยาวสีเขียวสดตำลงไปในครก ไผ่สองลำสลับกันตำครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งข้าวแหลกเหลวกลายเป็นก้อนแป้งหนืดเหนียว มองเห็นยืดเป็นสายติดปลายลำไผ่ที่คนตำยกขึ้นแต่ละที ขณะนั้นแป้งยังร้อนโชยควันกรุ่น
 
    แป้งที่ถูกตำจนเนื้อละเอียดได้ที่ ถูกลำเลียงใส่กระด้งสู่ด้านในบ้าน ผมตามไปดู ผู้หญิงนั่งล้อมวงที่พื้น ช่วยกันปั้นแป้งเป็นแผ่นกลมขนาดประมาณครึ่งฝ่ามือผู้ใหญ่ พร้อมโรยงาไว้ที่ผิวหน้าด้วย
 
  แผ่นแป้งกลมหนา นี้เองที่ชาวมูเซอเรียกว่า “ข้าวปุ๊ก” เป็นอาหารพิเศษใช้ในพิธีกรรมเซ่นไหว้ผี คนมูเซอจะได้กินข้าวปุ๊กก็เฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญเท่านั้น
 
    อ้ายสุชาติเล่าให้ผมฟังว่า ข้าวปุ๊ก นี้ต้องเฝ้าให้ดี ไม่เผลอทิ้งไว้จนสัตว์เข้ามากิน ไม่งั้นจะมีอันเป็นไป อย่างพ่อของปู่จ๋านตากข้าวปุ๊ก แล้วหมามากิน ต่อมาแกเข้าป่าแล้วถูกเสือกัดตาย
 
    เสียงไก่ขันระงมมาจากทั่วทิศ ท้องฟ้าสว่างเรื่อเรือง ผู้หญิงคนหนึ่งออกมาโปรยอาหารบนพื้นดินใกล้ใต้ถุนบ้าน ชักนำหมูขนสีเทาทึมกว่า ๑๐ ตัวมารวมฝูงดุนพื้นหากินอย่างหิวโหย แต่แล้วหมูรุ่นตัวผู้ขนาดย่อมตัวหนึ่งถูกพวกผู้ชายจับขาลากออกไปสู่ลานดิน ในยามเช้าตรู่เช่นนี้  เสียงกรีดร้องบาดหูของมันช่างโหยหวนสะท้านใจ ทว่าหมูตัวอื่นยังก้มหน้ากินอาหารอย่างไม่หวั่นไหว
    เสียงร้องขาดห้วงไปแล้ว คนหนึ่งใช้กะละมังรองเลือดจากรูมีดที่คอหมู ลูกหมาตัวเล็กเข้ามาเลียหยดเลือดที่กระเซ็นอยู่บนผิวดิน หมูตัวนั้นถูกลากไปชำแหละหน้ากองไฟที่เพิ่งก่อขึ้นไม่นาน ร่างของมันถูกมีดผ่าตามแนวยาวกลางลำตัว ลำไส้และบรรดาเครื่องในถูกควักออกมาใส่กระด้ง อุณหภูมิที่ยังอุ่นอยู่ทำให้กองเครื่องในโชยไอขาวลอยกรุ่นขึ้นในอากาศหนาว หมาดอยขนฟูและลูกหมาเลียบเคียงเข้ามาเมียงมองอย่างสนใจ กระทั่งคนต้องคอยไล่มันออกไป 

    หมูถูกยกขึ้นพาดไม้คานเหนือกองไฟ กระทั่งหนังไหม้ดำปริแตกจนเห็นเนื้อขาวข้างใน พวกเขายกมันขึ้นนอกชานบ้านปู่จ๋าน เพื่อขูดหนังและตัดแบ่งเนื้อเป็นส่วนๆ ผู้หญิงพูดคุยกันเสียงระงมขณะล้อมวงนั่งทำงาน
 
พิธีตั้งเทียนที่บ้านปู่จ๋านเริ่มต้นราวแปดโมงเช้า พ่อเฒ่าจะจ๋อยแต่งกายชุดประจำเผ่าดูขรึมขลัง สวมกางเกงขาก๊วยยาวแค่เข่า ผ้าสีดำลื่นเป็นมัน เสื้อคลุมแขนยาวไร้กระดุม ผ้าเนื้อเดียวกับกางเกง แกและลูกหลานชายหญิงชุมนุมอยู่ในห้องที่มืดสลัว มุมห้องด้านหนึ่งเป็นที่ตั้งของห้องผี โดยกั้นผนังเป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กคล้ายตู้ไม้ กว้างยาวด้านละเมตรกว่า ด้านหน้ามีประตูบานน้อยสำหรับเปิดปิด
 
      ปู่จ๋านนั่งอยู่หน้าห้องผีที่เปิดประตูไว้ ทุกคนเห็นแต่ด้านหลังของแก มือถือเทียนที่เปล่งแสง ทำพิธีบอกกล่าวผีเรือนให้รับรู้ถึงวาระขึ้นปีใหม่ คลอเสียงแคนน้ำเต้าที่มีผู้เป่าอยู่หลังห้อง เป็นเพลงเนิบช้าเสียงทอดยาววังเวง ท่วงทำนองวนซ้ำไปซ้ำมา สะกดจิตใจชวนให้เคลิ้มคล้อย ทุกคนในห้องที่มีเพียงแสงเทียนวอมแวม มีท่าทางสงบสำรวมคล้ายตกอยู่ในภวังค์ ขณะที่เปลวเทียนในมือปู่จ๋านกำลังสั่นไหว แสงเหลืองเรื่อเรืองทาบบนผนังในห้องผีจึงเต้นระริกวูบวาบดูยิ่งลึกลับ
 

    เสร็จแล้วปู่จ๋านหยิบข้าวปุ๊ก ๔-๕ แผ่นใส่กระด้งข้างกาย ปักเทียนเสียบลงในช่องว่างระหว่างแผ่นข้าวปุ๊กที่สุมอัดกันแน่น
 
พิธีตั้งเทียนบอกผีเรือนในวาระขึ้นปีใหม่ จะต้องกระทำที่บ้านปู่จ๋านเป็นที่แรก ก่อนที่ปู่จ๋านจะเดินไปทำพิธีเช่นเดียวกันในบ้านที่มีห้องผีหลังอื่นต่อไปจนครบทั้ง ๘ หลัง
 
     บ้านชาวมูเซอไม่จำเป็นต้องมีห้องผีทุกหลัง ชุมชนมูเซอห้วยน้ำรินทั้ง ๕๒ หลังคาเรือนมีบ้านที่สร้างห้องผีอยู่ ๘ ครัวเรือน ผู้เฒ่าประจำบ้านเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนเป็นต้นตระกูลของคนในชุมชน
 

  พิธีกรรมในช่วงเช้าของวันนี้ นอกจากการตั้งเทียนบอกผีเรือนแล้ว ในระหว่างบ้านที่มีห้องผีทั้ง ๘ หลังของชุมชน พวกเขายังจัดเครื่องเซ่นใส่ถาด ได้แก่ ข้าวปุ๊ก ข้าวตอก ใบยาสูบ เทียนขี้ผึ้ง ข้าวสาร นำไปส่งให้เป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
 
รวมทั้งหมูตัวที่ถูกฆ่าเมื่อเช้า เนื้อของมันถูกชำแหละตัดแบ่งเป็น ๖ ส่วนเท่าๆ กัน เพื่อแบ่งให้บ้านทั้ง ๘ หลังนำไปทำพิธีเซ่นไหว้ผีเรือน
 
หลังเสร็จพิธีกรรมในตอนเช้า พวกเราจึงมีเวลาเดินเล่นสำรวจหมู่บ้านมูเซอ
 


๔.

   บ้านใต้ถุนสูงทั้ง ๕๒ หลังปลูกกระจายตามลาดเนิน รวมทั้งบริเวณพื้นที่ราบของชุมชนมูเซอห้วยน้ำริน บางหลังเป็นกระต๊อบฟากไม้ไผ่หลังคาจาก บางหลังก็เป็นบ้านไม้กระดานแข็งแรง มุงหลังคาด้วยลอนกระเบื้องหรือสังกะสี ส่วนใหญ่สร้างเพิงเก็บหลัว (ไม้ฟืน) ซ้อนเป็นกองไว้ในบริเวณลานบ้าน หรือล้อมรั้วไม้กั้น เป็นคอกวัว สัตว์เลี้ยงต่างๆ เช่น หมา หมู ไก่   เดินเพ่นพ่านอย่างอิสระทั่วหมู่บ้าน ลูกหมูบางตัวไล่กัดกัน  เด็กเล็กบางคนยังนั่งอ้อยอิ่งอยู่ข้างกองไฟหน้าบ้านในยามสายที่เย็นเยือก โดยมีลูกหมาขนฟูตัวน้อยซุกนอนอยู่ใกล้ๆ เพื่อรับไออุ่นด้วย ขณะผู้หญิงบางคนง่วนทำอาหารบนนอกชาน ผู้ชายผ่าฟืนหรือจับกลุ่มสูบยานั่งคุยกัน
       ไม่ว่าเรายืนอยู่บริเวณไหนในหมู่บ้านบนดอยแห่งนี้ ก็สามารถมองเห็นทิวเขาโอบล้อมรอบด้าน แต่ละเทือกปกคลุมด้วยผืนป่าสีเขียวแน่นทึบ ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านจะเห็นยอดดอยสูงตระหง่าน นั่นคือดอยม่อนสูงกั้นแนวระหว่างเขต เชียงรายกับลำปางนั่นเอง

   อ้ายสุชาติเล่าให้ผมฟังตั้งแต่วันแรกที่เจอกันว่า สภาพธรรมชาติโดยรอบชุมชนยังคงความอุดมสมบูรณ์ ป่าปกคลุมเทือกดอยแถบนี้มีทั้งดิบชื้นและดิบแล้ง เป็นป่าต้นน้ำที่ให้กำเนิดลำห้วยไหลหลากไม่ต่ำกว่า ๑๐ สาย เต็มไปด้วยเถื่อนถ้ำและน้ำตก อีกทั้งสัตว์ป่านานาพันธุ์ชุกชุม ทั้งนก ไก่ฟ้า เก้ง หมูป่า
แต่ความอุดมสมบูรณ์ก็นำความหวาดวิตกมาสู่ชาวบ้าน ผืนป่าบริเวณนี้ได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจ
                             และเรายังมีโอกาสได้พูดคุยกับชาวมูเซอระหว่างที่พวกเขามาร่วมแรงซ่อมลาน จะคึ เตรียมพร้อม สำหรับการเต้น จะคึ  รับปีใหม่ 
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
๕.
( ๒๙ มกราคม )
    ราวแปดโมงเช้า  ชาวมูเซอในชุมชนห้วยน้ำรินทั้งหนุ่มสาว วัยกลางคน คนเฒ่าคนแก่ รวมทั้งปู่จ๋าน หรือแม้แต่เด็กๆ พร้อมใจกันมาช่วยซ่อมลานจะคึ บ้างจับจอบเสียม บ้างแบกไม้ ขนดิน ทำงานเท่าที่แรงกำลังตนจะอำนวย เริ่มจากปรับพื้นดินให้เรียบ รื้อรั้วไม้ไผ่ล้อมลานวงกลมที่เริ่มผุพัง เปลี่ยนเป็นเสาไม้เนื้อแข็งที่ทนทานใช้งานได้นานปี อ้ายสุชาติก็มาช่วยชาวบ้านขุดดินด้วย รวมทั้งน้องภูมิ-ลูกชายตัวน้อยของครูก็วิ่งเล่นเท้าเปล่ากับเด็กน้อยมูเซออย่างไม่ขัดเขิน

   การซ่อมลานจะคึแล้วเสร็จเมื่อยามสาย ผมได้พบกับ ป้านะทอ นวลวงศ์ขจร หญิงมูเซอวัยกลางคนผู้ใจดี พูดไทยคล่อง ป้าชวนผมไปเยี่ยมบ้าน ผมมีโอกาสได้ถามไถ่ชีวิตความเป็นไปเธอ
 
บ้านป้าไม่ค่อยดีนะ อยู่ไปอย่างงั้นป้าหัวเราะ ยังเป็นไม้ไผ่ ซ่อม ๓ ปีครั้งหนึ่ง เราปลูกไผ่เอง เมื่อวานก็ไปตัดมา
 
ป้ายังเล่าว่า ป้าอายุ ๕๐ กว่าปีแล้ว เกิดที่นี่แหละ หมู่บ้านนี้อยู่มานานแล้ว
 
ผมถามป้าว่าการใช้ชีวิตในหมู่บ้านเป็นอย่างไร
 
ชีวิตในหมู่บ้านนี้มีความสุข ทำนาทำไร่ไป แต่ว่าลำบากหน่อยเนาะ บางปีก็พอกิน บางปีก็ไม่พอกิน ต้องไปรับจ้างเก็บเฟริ์นบ้างเก็บข้าวโพดบ้าง ที่บ้านนี่แหละ ข้าวบางปีไม่พอกิน สองปีมานี้ฝนตกดี ถ้าข้าวไม่เสียเราก็มีพอกิน
 
 “กับข้าวแต่ละวัน ป้าหามาจากไหนครับ
 
ข้าวเรามีอยู่แล้ว เราหาเก็บผักเก็บไม้อะไรมากิน นานๆ เราฆ่าหมูกินเนื้อครั้งหนึ่ง ช่วงทำบุญฆ่าหมูบ่อย หรือไม่ก็ขายให้พ่อค้า ไก่เลี้ยงเกิดลูกเร็ว ช่วงไหนไม่มีกับข้าว เราก็ฆ่าไก่กินคำตอบของป้าพอเข้าเค้าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
 
ทำไมบ้านนี้ไม่ข้าวโพดล่ะครับ
 
เราบ่มีที่ดิน หลวงเปิ้นบ่หื้อ บุกรุกถางป่าอีกแล้ว พวกที่มีแล้วก็แล้วไป
 
แล้วป้าอยากได้ที่ดินทำกินหรือเปล่า
 
"อยากเหมือนกันนะป้าบอก มันจะได้ง่ายดีหน่อย สบายหน่อย ปลูกผักปลูกอะไรก็ได้ขาย
 
ป้าอยากปลูกอยู่เหมือนกัน เล็กๆ น้อยๆ ถ้าบ่ปลูกก็บ่มีรายได้ ลูกก็ไปเรียนในเมือง บ่มีรายได้เราก็ลำบาก
 
ป้านะทอเล่าว่ามีลูกชาย ๔ คน คนโตเรียนจบด้านการเกษตรจากวิทยาลัยในเมือง แต่งงานกับสาวไทยชาวจังหวัดสิงห์บุรี ทุกวันนี้ทำงานอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ลูกชายคนรองใช้ชีวิตในหมู่บ้าน คนที่ ๓ และ ๔ กำลังเรียนวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน
 
ป้าอยากให้ลูกเรียนสูงๆ เวลานี้มีหนังสืออะไรพ่อแม่ก็อ่านไม่ออก เลยอยากให้ลูกอ่านหนังสือออก จะได้มีความรู้ ถ้าไม่มีความรู้จะลำบาก อยากให้ลูกๆ สบาย
 

ลูกชายคนที่ ๓ และ ๔ จะกลับมาเยี่ยมบ้านในวันพรุ่งนี้ ป้านะทอเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับให้พวกเขาสวมใส่รับปีใหม่ไว้แล้ว โดยตัดเย็บด้วยตัวเองล่วงหน้าตั้งแต่หลายเดือนก่อน ป้าบอกว่า
 
ปีใหม่สำคัญที่สุดต้องใส่เสื้อผ้าใหม่ ถ้าปีใหม่ดีชีวิตเราดีไปทั้งปีเลย ช่วงนี้ไม่ต้องทำงาน เป็นเวลาพักผ่อน รื่นเริง สี่วันสี่คืนนี้จะคึไปเรื่อยๆ
 
ป้าพูดเรื่องการเต้นจะคึว่า พวกผู้ชายนี่เต้นจะคึแรง เขาเหนื่อย แต่ผู้หญิงไม่เหนื่อย เราเต้นตามจังหวะเสียงแคน
 
     หัวค่ำวันนั้นเอง ผมถึงได้เห็นชายหญิงมูเซอเต้นจะคึ ภายหลังจากปู่จ๋านประกอบพิธีกรรมเปิดลานจะคึเรียบร้อยแล้ว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
๖.
    เสียงร้องโหยหวนดังมาจากบ้านปู่จ๋าน หมูตัวโตถูกฆ่าเมื่อตอนบ่ายวันนั้น
 
     ครอบครัวปู่จ๋านเชิญอ้ายสุชาติและพวกเราไปกินข้าวเย็นที่บ้านเขา ผมเริ่มเห็นชาวมูเซอแต่งกายด้วยชุดใหม่ พวกผู้หญิงสวยเป็นพิเศษ ชายเสื้อคลุมยาวถึงเข่า ผ้าลายดอกไม้สีสันสดใส แขนเสื้อประดับแถบตามขวางนานาสีสลับไล่เรียงกันลงมา
 
     ช่วงหัวค่ำเมื่อความมืดโรยตัว ปู่จ๋านทำพิธีตั้งเทียนบอกผีเรือนหน้าห้องผี เทียนที่จุดในพิธีใช้เทียนขี้ผึ้งจากบ้าน ๖ หลังที่มีห้องผี นำมาฟั่นรวมกัน เปลวเทียนที่ลุกสว่างไสวจึงเสมือนสัญลักษณ์แสดงความสามัคคีกลมเกลียวของชุมชนแห่งนี้
 

    เสียงแคนเป่าคลอขณะปู่จ๋านบอกผีเรือนยังคงท่วงทำนองเนิบช้าวังเวง
 
จากนั้นพวกเขาตั้งขบวนเชิญเทียนไปยังลานจะคึ นำไปปักไว้บนเนินดินกองย่อมที่ก่อขึ้นตรงศูนย์กลางลานดินวงกลม ทั้งวางตะกร้าบรรจุเทียนขี้ผึ้งที่ทำเตรียมไว้จำนวนมาก และถาดใส่เครื่องเซ่นไหว้ผีไว้บนเนินด้วย ผู้ชาย ๓-๔ คนพร้อมหมอแคนนั่งยองๆ รอบเนินดิน พนมมือไหว้บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์
 

ประเพณีมูเซอถือว่าลานจะคึเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ใครจะมาทะเลาะวิวาทหรือกินเหล้าภายในลานไม่ได้ โดยเฉพาะเนินดินกลางลานยิ่งต้องให้ความเคารพ ห้ามคนหรือสัตว์ใดๆ ขึ้นไปเหยียบย่ำเป็นอันขาด เพราะเชื่อกันว่าเป็นที่สิงสถิตของผีลานจะคึ
 
ผู้คนซึ่งทยอยมาที่ลานจะคึล้วนแต่งกายด้วยชุดชนเผ่า การเต้นจะคึเริ่มต้นขึ้นแล้ว ผู้ชายเรียงเป็นแถวด้านนอก แถวผู้หญิงอยู่ด้านใน หมอแคนเป่าแคนจังหวะสนุกสนานเดินนำ ทั้งสองแถวเต้นตาม วนเป็นวงรอบเนินดินกลางลาน ด้วยจังหวะย่างก้าวพร้อมเพรียงตามเสียงแคน
 
     ยิ่งดึกยิ่งหนาวยะเยือก ดวงดาวพร่างพราวเต็มฟ้า พวกเขาก่อไฟกองใหญ่ขึ้นหน้าเพิงใกล้ปากประตูเข้าลานจะคึ ผมยังเฝ้าดูการเต้นวนเป็นวงรอบแล้วรอบเล่า ท่ามกลางเสียงแคน เสียงกระทืบเท้าอันหนักแน่น เสียงสรวลเสเฮฮา และเสียงโห่ร้องสนุกสนาน หมดรอบแล้วคนที่เหนื่อยออกไปพัก เปลี่ยนคนอื่นเข้ามาร่วมแถวเต้นในรอบใหม่
 

      การเต้นจะคึดูเหมือนเป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน แต่อ้ายสุชาติ อ้ายครูเอกพล ตลอดจนชาวมูเซอหลายคนบอกให้ผมทราบแล้วว่า แท้จริงการเต้นจะคึ คือการทำบุญ ใครที่เต้นจะคึมากครั้งก็ยิ่งได้บุญมาก ชีวิตจะดียิ่งๆ ขึ้นไป ในรอบปีหนึ่งๆ ชาวมูเซอมาร่วมกันเต้นจะคึหลายครั้งหลายหน เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ
 
     
 ภาพการเต้นจะคึที่ผมเห็นอยู่ตรงหน้าขณะนี้ แถวชายและหญิงก้าวย่างวนเป็นวงรอบจุดศูนย์กลางเนินดินที่สิงสถิตของผี อีกทั้งเทียนกลางลานที่ต้องคอยต่อเทียนไม่ให้ดับตลอดการเต้น อย่างน้อยที่สุดน่าจะสะท้อนให้เห็นว่า การนับถือผียังคงเป็นศูนย์กลางความเชื่อที่เกาะกุมอยู่ในจิตวิญญาณของพวกเขา 
 และเลยพ้นจากลานจะคึออกไปสู่ความมืดอันไพศาลที่ปกคลุมป่าเขารอบด้าน ทุกยอดเขา ไหล่ดอย หุบห้วย ต้นน้ำ ลำธาร ย่อมเป็นที่สิงสถิตของผีหรือดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาสถานที่ตามความเชื่อของชาวมูเซอ 
ผู้ใดบุกรุกทำลายถือเป็นการผิดผี ต้องพบความวิบัติเป็นไป 
ความเชื่อเช่นนี้เองที่คอยกำกับไม่ให้ชาวมูเซอกล้าทำลายธรรมชาติ
 
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
๗.
     ผมนึกถึงบทสนทนากับอ้ายสุชาติเมื่อบ่ายของวันวาน
 
       อ้ายสุชาติเล่าให้ผมฟังว่า สมัยเขาเป็นเด็กนักเรียน หนังสือเรียนมักมีเนื้อหาบอกว่าชาวเขาเป็นตัวการทำลายป่า
 
 ตามหลักสูตรสมัยที่ผมเรียนชั้นประถม มัธยม เนื้อหาในหนังสือมีบอกไว้ตรงๆ อย่างนั้น ทำให้ผมฝังใจว่าชาวเขาเป็นตัวการทำลายป่าเหมือนในหนังสือเรียนบอก คือเราเชื่อตำรา จนกระทั่งภายหลังผมมีโอกาสทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านหลายชนเผ่า และมาอยู่ในชุมชนนี้ ความเชื่อตรงนั้นหายไป ผมคิดว่าชาวชนเผ่าถูกเอาเปรียบจากพ่อค้า จากนายทุน จากคนมีการศึกษา ที่ทำความผิดแล้วโยนให้คนที่ไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา
 
       พร้อมขยายความว่า เท่าที่ผมสัมผัสมา ชนเผ่าไม่ว่ากะเหรี่ยง อาข่า มูเซอ เย้า โดยพื้นฐานเขาไม่ใช่คนทำลายป่า แต่เขาตกเป็นเครื่องมือของนายทุนที่มาว่าจ้างให้โค่นป่า เป็นเพราะชนเผ่าไม่มีรายได้ เมื่อนายทุนมาจ้าง เขาก็ต้องทำเพื่อยังชีพ เพราะจริงๆ แล้วชนเผ่ามีแค่มีดพร้า ขวาน เท่านั้น วันหนึ่งโค่นต้นไม้ใหญ่ต้นเดียวก็ยากแล้ว นายทุนต่างหากที่มีเลื่อยยนต์ สามารถโค่นต้นไม้ได้โล่งเตียนหมด
 
จริงอยู่ ชนเผ่ามีการแผ้วถางป่าบ้าง แต่พวกเขาทำไร่หมุนเวียน ไม่ได้ทำไร่เลื่อนลอย ทุก ๓ หรือ ๗ ปีจะวนกลับมาเพาะปลูกในไร่แปลงเดิม ป่าจึงสามารถฟื้นคืนสภาพได้
 
           ผมถามครูว่า ทั้งชาวมูเซอและชาวปกากะญอ มีแนวทางการดูแลรักษาป่าและธรรมชาติแวดล้อมชุมชนอย่างไร
 
ครูกล่าวว่า โดยวิสัยของชนเผ่า เขาไม่ได้เป็นคนทำลายป่า ประเพณีวัฒนธรรมของเขาทำให้ต้องมีการรักษาป่าด้วยซ้ำ อย่างชาวปกากะญอ เขามีประเพณีเอาสายสะดือเด็กเกิดใหม่ใส่กระบอกไม้ไผ่ไปผูกไว้กับต้นไม้ เด็กคนนั้นเมื่อโตขึ้นต้องดูแลต้นไม้ต้นนั้นให้ดีที่สุดเท่าชีวิตของเขา ส่วนชาวมูเซอ แต่ละปีพวกเขาจะมีพิธีบวชป่าตามประเพณี ที่เรียกว่า
สบีคึ รวมทั้งมีการเลี้ยงผีป่า ผีต้นน้ำ ผีเจ้าที่ พื้นที่ป่าเหล่านั้นรวมทั้งดอยป่าช้าของพวกเขา ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จะไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าเด็ดขาด
 
     ครูทั้งสองเล่าให้ผมฟังว่า แต่ละปีชาวบ้านทั้ง
มูเซอ และปกากะญอ จะช่วยกันสร้างแนวกันไฟป่า ปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ทำพิธีบวชป่า ทั้งตามประเพณีพุทธ ประเพณีมูเซอ และประเพณีปกากะญอ อีกทั้งจัดทำแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา 
    นอกจากนั้น ยังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรักษาป่า ตั้งกฎระเบียบของชุมชนโดยผู้รู้และผู้อาวุโสของสองชนเผ่า ซึ่งมีข้อห้ามตามประเพณีที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์จากผืนป่า และสร้างการรับรู้ร่วมกันของคนในชุมชน ไม่ว่าเด็ก คนหนุ่มสาว หรือคนเฒ่าคนแก่ รวมทั้งคนภายนอกที่เข้ามาจะต้องเคารพกติกาของชุมชน
 
เช่น หากชาวบ้านคนใดต้องการตัดไม้สักต้นเพื่อมาใช้งาน อาจเพื่อซ่อมบ้าน ก็จะต้องขอความเห็นจากคณะกรรมการชุมชนว่ามีความจำเป็นจริงไหม หากตัดแล้วมีความเสียหายขนาดไหน คณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณาอ้ายสุชาติยกตัวอย่างให้ฟัง
 
    ส่วนอ้ายครูเอกพลเล่าถึงความพยายามเผยแพร่กิจกรรมการอนุรักษ์ของชุมชนสู่คนภายนอก
 
เวลาชาวบ้านมีการบวชป่า ทำแนวกันไฟ หรือปลูกป่า เราพยายามทำจดหมายเชิญทั้งนายอำเภอ อบต. เจ้าหน้าที่ป่าไม้ หรือสื่อมวลชน เข้ามาดูกิจกรรมเหล่านี้ รวมทั้งทำรายงานผลส่งไปให้เขาตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจสักเท่าไร
 
 จึงได้ร่วมรณรงค์ กันเองภายในหมู่บ้าน และชนเผ่ามูเซอเหมือนกัน
“...ด้วยชุมชนใช้วิถีชีวิตที่พอเพียง ใช้ความเอื้ออาทรผสมผสานกับรูปแบบสังคม วัฒนธรรม ตลอดถึงประเพณี พิธีกรรมต่างๆ ที่เข้าลึกถึงจิตวิญญาณและสังคมมายาวนาน เป็นเครื่องมือในการจัดการป่าและสภาพแวดล้อมของชุมชนได้สำเร็จเห็นเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
 

   นอกจากนำมาซึ่งความดีใจและภาคภูมิใจของชาวบ้าน และส่งผลให้ชุมชนบ้านห้วยน้ำริน กลายเป็นที่รู้จักของคนภายนอก มันยังเป็นบทพิสูจน์ถึงความทุ่มเท อุทิศตนของอ้ายสุชาติและอ้ายครูเอกพลตลอดระยะเวลาที่พวกเขาพำนักในชุมชนแห่งนี้
 
ครูทั้งสองจึงได้รับความรักนับถือจากชาวบ้านทั้งชุมชน เห็นได้จากช่วงปีใหม่แต่ละปี ชาวบ้านจะต้องมาทำพิธีดำหัวครูทุกครั้งไป
 


๘.
( ๓๐ มกราคม )
     เช้ามืดตั้งแต่ตีสามของวันใหม่ ชาวมูเซอห้วยน้ำรินทยอยลงจากเรือน เพื่อไปทำพิธีดำหัวขอปันพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้อาวุโสของชุมชน 
   ผมและเพื่อนจึงต้องฝืนตื่นลุกจากที่นอนในเวลาไล่เลี่ยกัน ออกไปเผชิญอากาศที่ทวีความหนาวจัดเสียยิ่งกว่าคืนแรกๆ ที่เรามาถึงที่นี่ เพื่อตระเวนไปเก็บข้อมูลและถ่ายภาพ พิธีดำหัวของชาวมูเซอตามบ้านต่างๆ
 
    บนเรือนหลังหนึ่งที่มีห้องผี ลูกหลานมาถึงพร้อมถาดใส่สิ่งของสำหรับการดำหัว พวกเขาตรงเข้าไปหาผู้เฒ่าของบ้านที่นั่งรออยู่ในห้อง เทน้ำในกระบอกที่เอามาลงสู่จอกที่เจ้าบ้านเตรียมไว้ ผู้เฒ่าหยิบของในถาดนั้น ได้แก่ ข้าวปุ๊ก ใบชา ใบยาสูบ เทียนขี้ผึ้ง ชิ้นเนื้อหมู และข้าวตอก ใส่ลงในภาชนะของตน แล้วพูดให้ศีลให้พร ลูกหลานรับพรแล้วหยิบข้าวปุ๊กของเจ้าบ้านใส่ย่ามของตนเองกลับไปด้วยตามประเพณี
 

   ป้านะทอเคยบอกผมว่า ชาวมูเซอจะไปดำหัวพ่อแม่ตนเองเป็นอันดับแรก จากนั้นไปดำหัว ปู่จ๋าน แล้วค่อยไปดำหัวผู้อาวุโสคนอื่นๆ ของชุมชนตามลำดับ
 
แต่สำหรับชุมชนมูเซอห้วยน้ำริน ชาวบ้านจะไปดำหัว อ้ายสุชาติ อ้ายครูเอกพล ที่พวกเขานับถือด้วย เป็นรายการลำดับสุดท้าย
 
      ท้องฟ้าสว่างแล้วตอนหกโมงเช้า ชาวบ้านเริ่มทยอยมาถึงบ้านของอ้ายสุชาติและอ้ายครูเอกพล พิธีการดำเนินไปเช่นเดียวกับการดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ชาวมูเซอทุกประการ ครูทั้งสองผลัดกันให้พร พร้อมกับเตรียมซองใส่ธนบัตรมูลค่าตามสมควรกำนัลแก่ชาวบ้านด้วย
 
     กระทั่งพี่นะเมาะพาลูกหลานกลุ่มใหญ่มาถึงบ้านครู ทั้งเด็กชายหญิงตัวเล็ก และเด็กสาววัยแรกรุ่น
 
อ้ายครูเอกพลเป็นคนกล่าวให้พรด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม
 
ในวาระขึ้นปีใหม่นี้ ขอให้พี่นะเมาะทำมาค้าขึ้น ขายผ้าขอให้ได้สตางค์นักๆ ทำไร่ทำสวนขอให้ดีนักๆ อย่าได้เจ็บได้ไข้ ลูกๆ หลานๆ ที่กำลังเรียนหนังสือ ขอให้เรียนจบได้รับปริญญากันทุกคน จะได้กลับมาพัฒนาบ้านเฮา...
 
พี่นะเมาะและลูกหลานพนมมือรับพรด้วยใบหน้ายินดี
 
      แม้ชุมชนแห่งนี้จะได้อาศัยอ้ายสุชาติและอ้ายครูเอกพลมาช่วยสอนหนังสือ แต่เป็นการสอนระดับเด็กเล็กอายุ ๕-๖ ขวบ ในวิชาพื้นฐาน ไปจนถึง ชั้น ป.๖ เท่านั้น หากเด็กๆ ต้องการเรียนระดับสูงขึ้นไป พวกเขาต้องออกจากหมู่บ้านเพื่อไปเรียน ที่ ร.ร.บนพื้นราบหรือในเมือง ตั้งแต่ระดับ มัธยม/อาชีวะ หรือ บางคนอาจเรียนต่อถึงระดับปริญญา
 
ในวันนี้เด็กหนุ่มสาวมูเซอหลายคนที่ออกไปเรียนหนังสือนอกหมู่บ้าน เริ่มกลับมาถึงบ้านแล้วเพื่อร่วมงานปีใหม่ รวมทั้งลูกชายของป้านะทอด้วย
 
๙.
   บ่ายวันนี้มีพิธีเต้นจะคึ  นอกชานบ้านกรรมการหมู่บ้านผู้หนึ่งที่ชื่อ “จะแก”
 
พวกเขา “เชิญเทียน” ลงมาที่ลานจะคึ คนตามขบวนมากันเป็นกลุ่มใหญ่พร้อมหมอแคน เมื่อมาถึงบ้าน “จะแก” เสียงประทัดก็ดังสนั่นหวั่นไหว
    ผู้ชายขึ้นไปเต้นบนนอกชานบ้านจะแก พากันกระโดดเอาสองเท้ากระแทกพื้นดังลั่นจนนอกชานสะเทือน สมกับที่อ้ายครูเอกพลเคยบอกผมว่า   “ใครที่ยิ่งเต้นจะคึแรง เต้นเสียงดัง เขาถือว่ายิ่งได้บุญมาก 
     ส่วนที่ลานดินข้างล่างนั้น มีผู้ทำพิธีร้องเพลงเรียกขวัญสัตว์เลี้ยง ทั้งหมูและวัวควาย ที่บริเวณรางอาหารและคอกของพวกมัน
   บรรยากาศที่ลานจะคึยามเย็นดูคึกคักเป็นพิเศษ มีผู้คนเนืองแน่น เนื่องจากชาวมูเซอชุมชนอื่น จะพากันมาดำหัวญาติผู้ใหญ่ในชุมชนนี้ และจะมาเต้นจะคึเพื่อเอาบุญร่วมกันด้วย 

    ในลานจะคึยามนี้จึงคละเคล้าด้วยคนทั้งจากชุมชนอื่นๆ และเจ้าบ้านคือชาวชุมชนห้วยน้ำริน ผู้สูงอายุเคี้ยวหมากปากแดงนั่งคุยกันอยู่ในเพิงใกล้ประตูลาน ปู่จ๋าน ก็อยู่บริเวณนั้นด้วย หนุ่มๆ ดูคึกคักครึกครื้น ผู้หญิงสวยผุดผาด บางคนแต่งแต้มเครื่องสำอางบนใบหน้า สาวน้อยคนหนึ่งเดินผ่านประตูเข้ามาในลานด้วยท่าทีขวยเขินเอียงอาย อาจเป็นด้วยสวมใส่ชุดใหม่เอี่ยมอ่องลายพร้อย ทั้งถูกกลุ่มเด็กเล็กแถวนั้นส่งเสียงแซวหยอกล้อสนุกสนาน
 
    เปลวเทียนบนเนินดินกลางลานยังเปล่งแสง การเต้นจะคึในลานเริ่มต้นขึ้นแล้ว หมอแคนเป่าแคนน้ำเต้าออกนำ ขบวนแถวชายและหญิงก็เริ่มย่างก้าว...
 
    เวลานั้นมีคนเกาะริมรั้วไม้ด้านนอกลานจะคึเรียงรายอยู่โดยรอบตลอดแนว ผมแทรกอยู่ในหมู่พวกเขา เกาะรั้วมองเข้าไปในลาน สังเกตความเป็นไปต่างๆ ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและช่างน่าสนใจ
 
    ผู้ชายจับมือเป็นแถวเรียงเดี่ยวอยู่วงนอก จังหวะก้าวเท้ารวดเร็วพร้อมเพรียงกระฉับกระเฉง ฝ่าเท้าซ้ายขวากระแทกพื้นดินเสียงดังหนักแน่น ส่งฝุ่นขึ้นฟุ้งกระจาย ก่อนก้าวยาวๆ ตามปรกติ แล้วหมุนตัวเตะเท้าไปข้างหลัง แขนและมือที่กุมกันอยู่ตวัดชูขึ้นพร้อมๆ กัน
 
    ส่วนผู้หญิงด้านในตั้งแถวแนวขวาง แถวซ้อนแถว แถวหนึ่งอาจมี ๒, ๓ หรือ ๔ คน แต่ละคนไขว้แขนจับมือคนขนาบข้างตัวเองไว้ ยามย่างเท้าไม่รวดเร็วรุนแรงเท่าผู้ชาย หากก้าวสั้นๆ ตามจังหวะ ก้าวเท้าซ้าย เท้าขวา ก้าวถอยหลัง หยุดยืน และย่อเข่า ดูแช่มช้อยงดงามต่อเนื่อง
 
     ด้านหน้าเป็นแถวของหญิงวัยกลางคน เธอก้าวย่างด้วยทีท่าผ่อนคลายมั่นใจ ขณะแถวหลังเป็นกลุ่มเด็กสาว หลายคนก้าวเท้าด้วยความระมัดระวัง สีหน้าสำรวมตั้งอกตั้งใจเต็มที่ ทั้งก้มมองท่าเท้าของคนแถวหน้าไม่วางตา
 
    เวลานั้นผมพยายามสังเกตย่างก้าวของทั้งหญิงและชาย แต่ยังจับจังหวะไม่ได้แน่ชัดสักที ท่าเท้าของเขาดูเหมือนง่ายไม่ซับซ้อน แต่กลับมีความพิเศษเฉพาะที่คนนอกอย่างผมไม่อาจเข้าใจได้
 

    ผู้เฒ่ามูเซอคนหนึ่งในชุดประจำเผ่าขะมุกขะมอม ท่าทางเมามากแล้วเพราะบางครั้งพูดพร่ำเพ้ออยู่คนเดียว แกลงไปในลาน เข้าจับมือผู้ชายอยู่ปลายแถวเพื่อขอร่วมเต้นจะคึด้วย ทว่าต่อจากนั้นความขาดสติของแกเหมือนจะเลือนหาย ผู้เฒ่าก้าวเท้าไปข้างหน้าและหลัง กระแทกฝ่าเท้าหมุนตัว สอดคล้องพร้อมเพรียงกับคนในแถวอย่างไม่ผิดเพี้ยน
 
    การเต้นจะคึยิ่งวนผ่านไปหลายรอบ คนยิ่งลงไปในลานดินเพื่อร่วมเต้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เสียงฝีเท้ากระทบพื้นจึงยิ่งดังหนักแน่น ฝุ่นยิ่งฟุ้งกระจายขึ้นปกคลุมลานเป็นม่านมัว
 
     เด็กๆ ต่างยืนจับกลุ่มอยู่ริมรั้วไม้ด้านในลานจะคึ เฝ้ามองการเต้นของผู้ใหญ่ด้วยความสนใจ แล้วเด็กชายคนหนึ่ง วัยราว ๗-๘ ขวบ ก็วิ่งลงไปในลาน ยื่นมือไปจับแขนผู้ใหญ่ในแถวเพื่อขอเต้นด้วย จากนั้นเด็กชายหลายคนก็กรูตามกันลงไป
 
      กลุ่มเด็กหญิงนั้นยืนเกาะรั้วไม้ ท่าทางรีรอ กล้าๆ กลัวๆ แต่แล้ว ๓-๔ คนตัดสินใจก้าวเข้าไปในลานจะคึ
 
เด็กชายบางคนก้าวเท้าตามผู้ใหญ่ไม่ผิดจังหวะ ขณะบางคนก้าวผิดๆ ถูกๆ แต่ทุกคนล้วนมีท่าทางสนุกสนานเริงร่า
 
และขณะนี้มีเด็กหญิงตัวน้อยร่วมเต้นจะคึ ๖ คนแล้ว พวกเธอจับคู่กันแถวละ ๒ คน ก้าวตามพี่ผู้หญิงแถวหน้า สีหน้าและท่วงท่ายังดูขัดเขิน จังหวะก้าวย่างยังสะดุดติดขัด
 
     แต่แล้วเมื่อเต้นต่อไปเรื่อยๆ จังหวะก้าวเท้าของพวกเด็กน้อยก็เริ่มลื่นไหลกลมกลืนกับของผู้ใหญ่มากขึ้นทุกที
 
ผมมีโอกาสได้คุยกับจะแบะ หนุ่มมูเซอวัย ๒๘ ปีผู้นี้เพิ่งปลีกตัวออกมาจากลานจะคึเพื่อพักเหนื่อย
 
    จะแบะบอกว่า ถึงช่วงปีใหม่ผมรู้สึกตื่นเต้นดีใจมาก อย่างวันนี้พวกบ้านบนมา บ้านผมก็ต้องเตรียมตัว เต้นจะคึด้วยกัน สนุกมาก บางครั้งได้รู้จักเพื่อนใหม่ เพราะในลานจะคึ ใครมีอะไรก็คุยกันได้
 
แล้วจะแบะหัดเต้นจะคึตั้งแต่เมื่อไหร่ผมเอ่ยถาม
 
ผมเหรอ ตั้งแต่อายุประมาณ ๑๐ ขวบ ตัวเล็กๆ รุ่นนี้แหละเขาชี้ไปที่เด็ก ตอนแรกไม่ค่อยกล้า ก็หัดกับพี่ๆ เขาจนเป็น เพราะว่าประเพณีเราสืบทอดกันมาอย่างนี้ ต้องเต้นจะคึเป็นแต่เด็ก
 

    คำพูดเรียบง่ายของจะแบะทำให้ผมฉุกคิดถึงเรื่องราวของชุมชนมูเซอเก่าแก่แห่งนี้
 
ทุกเทศกาลปีใหม่มูเซอที่ผ่านไปปีแล้วปีเล่า ภายในลานจะคึนั้นเป็นที่ซึ่งชาวชุมชนจะได้พบปะพูดคุยกระชับความกลมเกลียว ทั้งยังได้รู้จักพี่น้องร่วมเผ่าพันธุ์จากต่างหมู่บ้าน ขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างชาวมูเซอให้กว้างไกลออกไป
 
ชาวมูเซอทุกเพศวัย แม้แต่เด็กตัวเล็กตัวน้อย ล้วนถูกดึงดูดเข้าสู่วงจรการเต้นจะคึที่หมุนวนรอบเนินดินศักดิ์สิทธิ์ หล่อหลอมให้ย่างก้าวของพวกเขาพร้อมเพรียงกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน
 
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
๑๐.
เช้าวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๙
 
    ชุมชนห้วยน้ำรินเนืองแน่นด้วยผู้คนยิ่งกว่าเย็นวันวานเสียอีก ด้วยชาวมูเซอจากต่างถิ่นล้วนทยอยมาถึง เพื่อร่วมงานปีใหม่ ทั้งชาวมูเซอจากหมู่บ้านห้วยโป่ง ดอยมด ห้วยม่วงและชาวมูเซอจากตำบลอื่น และชาวมูเซอที่มาจากจังหวัดตากและอำเภอใกล้กัน ทั้งหมดมากันด้วยรถกระบะเก่าใหม่ไม่ต่ำกว่า ๒๐ คัน จอดเรียงรายตลอดแนวริมถนนรอบหมู่บ้าน เสียงเพลงลูกทุ่งสมัยใหม่ดังลั่นมาจากรถบางคัน
 
    เสียงจุดประทัดดังสนั่นหวั่นไหวต่อเนื่องไม่ขาดตอนราวกับอยู่ในสมรภูมิ ชาวมูเซอแต่งกายชุดชนเผ่าเดินกันแน่นถนนเป็นขบวนยาวเหยียด มุ่งขึ้นเนินสู่ลานจะคึ
 
รถนั่งท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมเยือน
     การเต้นจะคึเริ่มต้นขึ้นตอนสิบเอ็ดโมงเช้า ในลานดินยามนี้บรรจุผู้ร่วมเต้นมากมายจนน่าตื่นตะลึง แถวเรียงเดี่ยวของผู้ชายมีถึง ๒ แถว คนเป่าแคนนับสิบคน แถวตามขวางของผู้หญิงด้านในซ้อนกันแน่นขนัด ดวงดอกไม้หลากสีสันพร่างพราวอยู่บนเสื้อคลุมเนื้อผ้ามันเลื่อมที่แต่ละคนสวมใส่ ผู้หญิงบางคนใช้ผ้าโพกหัว บางคนสวมหมวกของผู้หญิงเผ่าลีซูทรงกลมแบน มีพู่ด้ายสีสดห้อยลงมาคล้ายม่านระย้า อีกทั้งสร้อยทองประดับประดาบนลำคอ
 
    ยามที่ขบวนของพวกเขาเคลื่อนวนด้วยจังหวะย่างก้าวที่พิเศษเฉพาะ สำหรับผมแล้วเป็นภาพที่ทั้งสง่างามและละลานตายากลืมเลือน
 
    ผมพบอ้ายสุชาติที่บริเวณลานจะคึ เพราะเคยบอกอ้ายสุชาติไว้ว่า ผมอยากรู้ชีวิตความเป็นไปของเด็กมูเซอที่ไปเรียนในตัวเมืองแล้วกลับมาเยี่ยมบ้านช่วงปีใหม่ อ้ายสุชาติแนะนำให้ผมรู้จักสองพี่น้อง ช่างบังเอิญที่ทั้งคู่คือลูกชายของป้านะทอ นวลวงศ์ขจร นั่นเอง
 
   จะเออเป็นพี่ชาย อายุ ๒๒ ปี กำลังเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ เขามีชื่อไทยว่า วัชรพล นวลวงศ์ขจร ส่วนน้องชายคือ จะเต๊าะ หรือ ธวัชชัย นวลวงศ์ขจร วัย ๒๐ ปี เรียนอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน
 
ทั้งสองคนจากหมู่บ้านพร้อมกันตั้งแต่ยังเล็กเพื่อไปเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนใน จังหวัดเชียงใหม่
 

ผมถามพวกเขาว่า ตอนแรกที่ออกไปอยู่ในเมืองเป็นยังไงบ้าง ต้องปรับตัวมากไหม 
จะเต๊าะเล่าว่า ตอนนั้นผมอายุ ๑๔ขวบครึ่ง ไปเรียนชั้น ม. ๑ ที่ธรรมราช อาศัยอยู่กับพี่ชายคนโตที่อยู่ที่นั่นก่อนแล้ว ตอนแรกที่ไปอยู่ผมเหงามากเลยครับ คิดถึงบ้านจนร้องไห้ บอกพี่ชายว่าขอกลับบ้าน แต่พี่ชายบอกว่าต้องอยู่ต่อ ต้องสู้ต่อ
 
จะเออเล่าบ้าง ไปอยู่ใหม่ๆ จะมีปัญหาเรื่องสำเนียง ยังพูดไม่ค่อยชัด
 
จะเต๊าะเสริม เพื่อนมันล้อ ตอนนั้นผมอาย ทั้งโรงเรียนมีเด็กมูเซอแค่ ๓ คน เพราะเพื่อนที่ไปจากหมู่บ้านเดียวกัน ไม่ได้เรียนในโรงเรียนเดียวกัน
 
แล้วโดนเพื่อนแกล้งบ่อยหรือเปล่าผมถาม
 
ทั้งสองคนพูดพร้อมกัน แกล้ง ต่อยกันเลย ต่อยกันบ่อย
 
จะเต๊าะบอก เข้าไป (โรงเรียน) วันแรก ผมต่อยกับเขาเลย ผมต่อยกับเด็กเมืองไม่เคยแพ้ เพราะเด็กดอยจะแข็งแรงกว่า แต่พออยู่ไปก็เข้ากันได้ กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน ผมค่อยหายเหงาเพราะเริ่มชิน
ผมชวนพวกเขาคุยต่อ แล้วยังคิดถึงบ้านอยู่หรือเปล่า
 
คิดถึงครับจะเต๊าะรีบบอก พวกผมกลับบ้านทุกปี ช่วงปิดเทอมกับงานปีใหม่ไม่เคยขาด แต่ตอนเป็นเด็กเดินทางลำบากที่สุดเลย จากแม่ตื่นผมต้องนั่งรถหรือขอติดรถครูมาลงที่หมู่บ้านปากทาง นัดแม่ให้มารับ ต้องเดินสิบกว่ากิโลกว่าจะถึงหมู่บ้าน ใช้เวลาเดิน ๔ ชั่วโมงกว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งผมจำได้ไม่เคยลืมเลย ตอนนั้นผมเรียนอยู่ ม. ๓ พี่ผมอยู่ ม.๔ กลับมาบ้านช่วงงานปีใหม่ผู้ชาย ตอนนั้นเป็นฤดูฝน แล้ววันนั้นฝนตกหนักมาก แม่ผมต้องพาเดินลุยฝนเพราะเมื่อก่อนมันไม่มีศาลาพัก ทางก็เปลี่ยว น่ากลัวมาก เปียกฝนไปหมดทั้งตัว ลื่นล้มบ่อยจนเสื้อผ้าเลอะ เดินตั้งแต่เช้า กว่าจะถึงประมาณเที่ยงกว่า
 
แล้วออกไปอยู่ในเมืองนานๆ ได้เห็นโลกภายนอก พอกลับมาที่หมู่บ้าน รู้สึกยังไงกันบ้าง
 
จะเต๊าะค่อนข้างพูดเก่งกว่าพี่ชาย เขาตอบผมว่า ผมรู้สึกว่าต่างกันมาก ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่บ้านผมต้นไม้จะมากกว่า สมบูรณ์กว่า แต่ในเมืองจะมีรถและมลพิษเยอะ ด้านการใช้ชีวิตก็ต่างกัน อยู่ที่นี่พออยู่พอกิน ถ้าอยู่ในเมืองต้องซื้อของกินทุกวัน ค่าใช้จ่ายก็แพงกว่าเยอะเลย
 
แล้วชอบที่ไหนมากกว่ากัน 
ผมชอบที่บ้านมากกว่า ถ้าเรียนจบ ปวช. ในปีนี้ จะเรียนต่อ ปวส.ด้านเกษตร หลังจากนั้นผมตั้งใจจะทำงานเก็บเงินสักระยะ แล้วอยากจะกลับมาพัฒนาหมู่บ้านของตัวเอง อย่างเช่นเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจะเต๊าะบอกด้วยสีหน้าจริงจัง
 
จะเออพูดขึ้นบ้าง ผมก็ไม่ชอบอยู่ในเมืองเลย เพราะอากาศไม่ดี ร้อน แล้วก็มีแต่ควันรถ ถ้าเรียนจบแล้ว ใจผมอยากทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ เช่นเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่หน่วยอนุรักษ์ต้นน้ำ เพราะผมชอบธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อยากจะอยู่บนดอย
 
อ้ายสุชาติที่ร่วมวงสนทนาอยู่ด้วยกล่าวเสริมขึ้น จริงๆ แล้วด้วยจิตสำนึกของคนในหมู่บ้านที่ออกไปเรียนในเมือง ส่วนมากเขาอยากกลับเข้ามาทำงานในชุมชนของตัวเอง แต่มันมีข้อจำกัดอยู่ว่า พวกเขาลงทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา แล้วในชุมชนไม่มีหน่วยงานรองรับเขา ถ้าเขากลับมาแล้วไม่มีเงินเดือนก็อยู่ไม่ได้ นี่คือปัจจัยหลักที่ทำให้คนในชุมชนกลับมาไม่ได้ ถ้ามีหน่วยงานรัฐมาส่งเสริมให้เขาอยู่ในชุมชน มีงานรองรับ มีเงินเดือนตอบแทนบ้าง ทุกคนเรียนจบแล้วก็อยากกลับมาพัฒนาชุมชนตัวเองทั้งนั้น
 

     ผมจึงถามพวกเขาว่าอยากเห็นหมู่บ้านพัฒนาไปอย่างไรในอนาคต
 
จะเต๊าะเป็นผู้ตอบ ในความคิดของผม อยากให้บางสิ่งเหมือนเดิม อย่างเช่นป่าไม้ ความสมบูรณ์ของป่า และประเพณีวัฒนธรรมเหมือนเดิม แต่อยากให้ถนนดีกว่านี้ ทำการเกษตรจะขนส่งง่าย เพราะว่าที่นี่ปลูกผักดีครับ พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์
 
และแล้วหัวข้อสนทนาก็วกเข้าสู่เรื่องงานปีใหม่ เมื่อผมเอ่ยทักเสื้อผ้าชุดใหม่ที่พวกเขาสวม
 
จะเต๊าะตอบอีกเช่นเคย ชุดใหม่นี้แม่ผมตัดให้ ถึงปีใหม่ชาวมูเซอต้องใส่ชุดใหม่ แม่ตัดชุดใหม่ให้ผมทุกปีตั้งแต่เด็ก ผมยังเก็บไว้ทุกชุดไม่เคยทิ้งเลย
 
เขายังบอกอีกว่า ปีใหม่สำคัญมากสำหรับมูเซอ เป็นเวลารวมญาติ เจอพ่อแม่พี่น้อง คนที่อยู่ไกลๆ ก็จะกลับมาเจอกัน กลับมาดำหัวผู้ใหญ่
 
แล้วจะเต๊าะภูมิใจในความเป็นมูเซอ ภูมิใจในประเพณีวัฒนธรรมของตนเองหรือเปล่า
 
เขาตอบทันที ผมภูมิใจมากเลยครับ แล้วผมก็ชอบเต้นจะคึมาก
 
จะเต๊าะบอกว่า เขาและพี่ชายเต้นจะคึทุกปีในช่วงปีใหม่ แม้ไปเรียนข้างนอก แต่กลับมาก็ยังเต้นพร้อมกับเพื่อนและคนในหมู่บ้านได้เหมือนเดิม
 
ผมถามเขาว่า เวลาเต้นจะคึ รู้สึกอย่างไรบ้าง
 
สนุกครับเขาว่า แล้วมันช่วยให้สามัคคีกัน เพราะได้เต้นพร้อมๆ กัน
 
สองพี่น้องบอกผมว่า คืนวันนี้ ในชุมชนจะมีการเต้นจะคึกันถึงยามดึก ทั้งสองคนย่อมไม่พลาดไปร่วมเต้นด้วยอย่างแน่นอน
 
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
๑๑.
 หลังจากคุยกับลูกชายของป้านะทอ บ่ายวันนั้นอ้ายสุชาติพาพวกเราไปที่ชุมชนมูเซอหลังเมืองใหม่ เพราะชาวชุมชนห้วยน้ำรินจะมาร่วมเต้นจะคึกับชาวบ้านที่นี่เป็นการแลกเปลี่ยน 
ผมพบกับชายหนุ่มคนไทยพื้นราบที่แวะมาแอ่วงานปีใหม่มูเซอ ผู้ที่บอกว่าเขาเคยลองเต้นจะคึแล้ว แต่ไม่สามารถก้าวเท้าไปพร้อมคนอื่นๆ ได้ 
           อ้ายสุชาติยังทักสองสาวที่ยืนอยู่ด้วยกัน ทั้งคู่ใส่กางเกงยีน สวมเสื้อยืดและเสื้อแขนยาว ปรากฏว่าเป็นสาวมูเซอชุมชนห้วยน้ำรินนี้เอง
 
ทำไมไม่ไปเต้นจะคึอ้ายสุชาติทัก
 
ไปเต้นก็ไม่เหมือนเขาคนหนึ่งบอกยิ้มๆ เขาก้าวไปหน้าแต่เราไปหลัง
 
เต้นแล้วผิดจังหวะอีกคนพูด
 



๑๒.
เช้าวันที่ ๑ กุมภาพันธ์  พวกเราเดินทางกลับออกจากชุมชนมูเซอห้วยน้ำริน
 
    ช่วงเวลาหลังจากนี้ ภายในชุมชุมจะมีพิธีเลี้ยงผีเรือนของบ้านแต่ละหลัง ยังคงมีการฆ่าหมูและเต้นจะคึแทบทุกวัน เป็นเวลา ๑ เดือนนับจากวันแรกที่เริ่มต้นปีใหม่ โดยในวันสุดท้ายของงานปีใหม่ผู้หญิงจะเป็นพิธีเต้นจะคึเพื่อปิดลาน จากนั้นชาวชุมชนจะไปเต้นจะคึที่นอกชานบ้านปู่จ๋านเป็นการปิดท้าย ก่อนเริ่มต้นงานปีใหม่ผู้ชายต่อจากนั้นเป็นเวลาราว ๑๐ วัน
 
รถของพวกเราเคลื่อนออกจากหมู่บ้าน ขณะอ้ายครูเอกพลมายืนรอส่งพวกเราพร้อมชาวมูเซอกลุ่มหนึ่ง
 
ทุกวันนี้อ้ายครูเอกพลยังคงเป็น ครูอาสาอย่างแท้จริง เพราะยืนหยัดสอนหนังสือเด็กๆ มูเซอให้อ่านออกเขียนได้ โดยที่ตนเองไม่ได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากความรักนับถือของชาวบ้าน
 
ส่วนอ้ายสุชาติเพิ่งได้รับการบรรจุเป็น นักสังคมสงเคราะห์สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อปีที่แล้ว พอมีเงินเดือนเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัว
 
       อ้ายสุชาติออกมาส่งเรา ที่รถเพื่อออกจากหมู่บ้านมูเซอไปยังภูมิลำเนาของแต่ละคน

เส้นทางจากหมู่บ้านหลังเมืองออกไปสู่โลกภายนอกยังคงคดเคี้ยว ผ่านป่าทึบและหุบเหว
 
บางคนเชื่อว่า เส้นทางทุรกันดารช่วยสกัดกั้นความเจริญและวุ่นวายโกลาหลของโลกยุคใหม่เอาไว้ ชาวมูเซอบ้านห้วยน้ำริน   จึงสามารถรักษาประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขาไว้ได้มากที่สุด
 
อย่างไรก็ตาม ชาวมูเซอหลายคนที่ผมมีโอกาสคุยด้วยช่วง ๔-๕ วันที่ผ่านมานี้ ล้วนบอกตรงกันว่า พวกเขาอยากให้ทางการช่วยส่งเสริม การพัฒนาอาชีพ พัฒนาหมู่บ้านให้ดีขึ้น ด้วยเหตุผลนอกจากเรื่องการขนถ่ายผลิตผลทางการเกษตรแล้ว ลูกหลานจะได้เดินทางไปเรียนในตัวเมืองสะดวกขึ้น และที่สำคัญ การนำชาวบ้านที่ป่วยหนักเพื่อไปส่งยังโรงพยาบาลในเมืองสามารถทำได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที
 
ขณะที่การเดินทางออกจากหมู่บ้านของเราเที่ยวนี้ มีเด็กสาวมูเซอคนหนึ่งโดยสารรถเราออกมาด้วย
เธอชื่อนะแล หรือ ธิดารัตน์ หน่ามือ ลูกสาวคนรองสุดท้องของปู่จ๋าน ญาติทางบ้านฝากเธอติดรถเราไปลงที่อำเภอฮอด เพื่อต่อรถโดยสารเข้าตัวเมืองเชียงใหม่
 
ผมมีโอกาสคุยกับนะแลเมื่อวานนี้ ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่พบจะเต๊าะและจะเออ
 
นะแลลงไปเรียนหนังสือในเมืองตั้งแต่เด็ก ขณะนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๒ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เรียนวิชาเอกทางด้านการพัฒนาชุมชน
 
ที่เลือกเรียนด้านนี้เพราะคิดไว้ว่า เมื่อเรียนจบแล้วอยากจะกลับมาพัฒนาหมู่บ้านของตัวเองเธอบอก
 
ผมถามว่า ตอนที่นะแลอยู่ในเมือง อายหรือเปล่าที่ต้องบอกคนอื่นว่าเป็นชาวมูเซอ
 
ขณะที่คุยกันเมื่อวันวาน นะแลอยู่ในชุดมูเซอใหม่เอี่ยมประดับลวดลายดอกไม้งดงามเช่นเดียวกับสาวมูเซอคนอื่นๆ เธอตอบอย่างมั่นใจว่า
 
ไม่อาย เวลาอาจารย์ถามหรือเพื่อนถาม ก็บอกว่าเราเป็นชนเผ่า เป็นชาวมูเซอ
 
   ในวันนั้น เราส่ง นะแลที่ปากทางเข้าบ้านมูเซอ( มีรถโดยสาร-ผ่านไปเชียงใหม่) เด็กสาววัย ๑๘ อยู่ในชุดเสื้อยืดแขนยาวสีดำ กางเกงยีน เดินหิ้วกระเป๋าจากไป ขึ้นรถสู่ตัวเมืองเชียงใหม่
................................................................................................
กระทั่งวันที่ผมกำลังพยายามเขียนตอนจบของเรื่องนี้ ผมยังนึกถึงภาพการเต้นจะคึของชาวมูเซอบ้านมูเซอห้วยน้ำริน 
ความจริงแล้วหลังกลับจากหมู่บ้านหลังเมือง ระหว่างเขียนต้นฉบับ ผมได้ย้อนดูการเต้นจะคึของพวกเขา ทั้งในวีดิโอที่เพื่อนร่วมงานบันทึกเอาไว้ ดูในภาพถ่ายดิจิทัลไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ทั้งยังย้อนระลึกในความทรงจำของตัวเองอีกด้วย จึงเสมือนดั่งการเต้นจะคึดำเนินอยู่ตลอดเวลาในห้วงคำนึง
 
เข้าใจว่าสภาวะเช่นนี้คงเกิดกับชาวมูเซอหลายคนเช่นกัน ทั้งคนในชุมชนผู้เฝ้ารอให้เทศกาลปีใหม่มาถึง จะได้รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ และร่วมเต้นในลานจะคึกับญาติมิตร รวมทั้งหมู่เด็กมูเซอที่ไปเรียนในเมือง และกำลังได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดช่วงปีใหม่ด้วยความคิดถึงเต็มหัวใจ
 
ผมนึกถึงแบบแผนการย่างก้าว จังหวะท่าเท้าที่พร้อมเพรียงทั้งชายหญิงในลานจะคึอีกครั้ง
 
หวังว่าเมื่อเทศกาลงานปีใหม่มูเซอเวียนมาถึงทุกรอบปี การเต้นจะคึจะยังคงอยู่คู่ชุมชนของพวกเขาไปอีกตราบนาน
 
ขอขอบคุณ
และชาวบ้านมูเซอห้วยน้ำรินทุกท่าน


                            -------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ความเป็นมา
ลาหู่ หรือ  มูเซอ อาศัยอยู่ในประเทศจีนเมื่อถูกรุกรานจึงอพยพมาทางตอนใต้เข้าสู่ประเทศพม่า และทางเหนือของประเทศไทย เมื่อกว่า 150 ปีมาแล้ว โดยเข้ามาทางอำเภอแม่จัน  เชียงแสน  เชียงของ  เวียงป่าเป้า แม่สรวย จังหวัดเชียงราย และอำเภอฝาง  อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอบางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเพียงส่วนน้อยที่มาจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
มูเซอที่รู้จักกันมาก ได้แก่  มูเซอดำ  มูเซอแดง มีวัฒนธรรมประเพณีคล้ายคลึงกัน
   มูเซอ เป็นภาษาพม่า แปลว่า นายพราน  เนื่องจากมีความชำนาญในการล่าสัตว์โดยใช้หน้าไม้ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า ลาฮู ในกลุ่ม มูเซอดำ เรียกว่า ลาฮูนา  มูเซอแดง เรียกว่า ลาฮูยี
ภาษา
มูเซอพูดภาษาธิเบต- พม่า ซึ่งคล้ายคลึงกับพวกอาข่าและลีซอ   มูเซอส่วนใหญ่พูดภาษาไทใหญ่และลาวได้ บางคนก็พูดภาษาจีนยูนาน หรือพม่า  ภาษามูเซอแดงและมูเซอดำต่างกันไม่มากนัก จึงฟังกันรู้เรื่อง
ลักษณะบ้านเรือน
มูเซอจะปลูกบ้านอยู่บนดอยสูงระดับ 4,000 ฟุตขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล เพราะถือว่าผู้ที่อยู่สูงจะเหนือกว่าผู้ที่อยู่ที่ต่ำ บ้านมูเซอ(ดั้งเดิม) จะสร้างด้วยไม้ไผ่ เสาไม้ หลังคาแฝกหรือคา หน้าบ้านมีนอกชาน มีเตาไฟก่อไว้กลางบ้านหรือมุมบ้านสำหรับให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว และหุงต้มอาหาร
การแต่งกาย
มูเซอแดง :
ผู้หญิง สวมเสื้อตัวสั้นสีดำ แขนยาว ผ่าอก ติดแถบผ้าสีแดงที่สาบเสื้อ รอบชายเสื้อและแขน ตกแต่งเสื้อด้วยกระดุมเงิน  ส่วนผ้าซิ่นใช้สีดำเป็นพื้น  มีลายสีต่างๆ สลับกันอยู่ที่เชิงผ้าโดยเน้นสีแดงเป็นหลัก
ผู้ชาย  สวมเสื้อสีดำ ผ่าอกกลาง กระดุมโลหะเงิน หรือกระดุมเปลือกหอย กางเกงจีนสีดำหลวมๆ ยาวลงไปแค่เข่าหรือใต้เข่าเล็กน้อย
มูเซอดำ :
ผู้หญิง แต่งกายด้วยเสื้อแขนยาว  ตัวเสื้อยาวถึงครึ่งน่อง ผ่ากลางตลอดตัวขลิบชายเสื้อและตกแต่งตัวเสื้อด้วยผ้าสีขาว นุ่งกางเกงขาก๊วยสีดำ  โพกศีรษะด้วยผ้าดำยาว และปล่อยชายผ้าห้อยไปข้างหลังยาวประมาณ 1 ฟุต  ปัจจุบันใช้ผ้าเช็ดตัวโพกศีรษะแทน ใช้ผ้าสีดำพันแข้ง
ผู้ชาย สวมกางเกงขาก๊วยสีดำ  เสื้อสีน้ำเงินแขนยาวผ่าหน้าป้ายข้าง สั้นแค่บั้นเอว
วัฒนธรรมประเพณี
ชาวมูเซอ  มีอิสระในการเลือกคู่ครอง มีสัมพันธ์ทางเพศในอายุยังน้อย ไม่ชอบแต่งงานกับหญิงสาวบ้านเดียวกัน การแต่งงาน การหย่าของมูเซอจะต้องมีการฆ่าหมู เพื่อสังเวยแก่ผีที่กลางลานใหญ่ของหมู่บ้าน   เป็นที่สำหรับเต้นจะคึในช่วงงานปีใหม่ หรือมีพิธีทำบุญต่างๆ  เช่นทำบุญขึ้นบ้านใหม่  พิธีกินข้าวใหม่
ศาสนา  ความเชื่อ  พิธีกรรม
   มูเซอนับถือผี  มีบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นหลัก  แต่ปัจจุบันก็มีการนับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาคริสต์ มากขึ้น มีความเชื่อที่มีพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในการดำรงชีวิต  การเกิด เจ็บ ตาย บุคคลที่มีอิทธิพลในหมู่บ้านมากที่สุด ได้แก่  พ่อครู หรือปู่จอง การตัดสินเรื่องสำคัญๆของหมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านและทุกคนจะต้องฟังความคิดเห็นของพ่อครูเป็นหลัก ซึ่งหัวหน้าหมู่บ้านกับพ่อครูอาจจะเป็นคนเดียวกัน  ที่เป็นผู้นำทางพิธีกรรมเป็นผู้ทำนายทายทัก รักษาอาการเจ็บป่วยด้วยสมุนไพรหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น